HUMANITY

2 แม่เฒ่าอมก๋อยยิ้มออก-หลายฝ่ายร่วมกัน แก้ปัญหาจนได้รับบัตรประชาชน

2 แม่เฒ่าอมก๋อยยิ้มออก-หลายฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาจนได้รับบัตรประชาชน ‘ครูแดง’ ชื่นชมเสนอให้เป็นโมเดลแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติทั่วประเทศ 1.1 แสนคน

วันนี้ (3 เม.ย 65) นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เปิดเผยว่า มีเรื่องที่น่ายินดีดังปาฏิหาริย์ ที่แม่เฒ่าชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชาวเขาดั้งเดิมติดแผ่นดิน แต่ตกหล่นจากการสำรวจในระบบทะเบียนราษฎร หมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อยจ.เชียงใหม่ ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามระเบียบการทะเบียนราษฎรพ.ศ. 2535 ข้อ 93 หลังจากที่มูลนิธิ พชภ. ทำหนังสือหารือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งปลัดจังหวัดเชียงใหม่ (นายประสงค์ หล้าอ่อน) ได้รับมอบหมาย โดยประสานนายอำเภออมก๋อยดำเนินการให้ผู้เฒ่าได้สิทธิ์ในสัญชาติไทยโดยเร็ว

นางเตือนใจกล่าวว่าความสำเร็จเกิดจากโครงการความร่วมมือบูรณาการระหว่างกรมการปกครอง โดยจังหวัดเชียงใหม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ภาคประชาสังคม คือ องค์การแพลน มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล เครือข่ายสตรีชนเผ่าอำเภออมก๋อย และผู้ใหญ่บ้าน กำนันในพื้นที่ ซึ่งทำการสำรวจรายชื่อและประวัติของคนที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร  เด็ก เยาวชนที่ไม่ได้แจ้งเกิด แต่มีพ่อ แม่ ปู่ย่าตายาย หรือพี่น้องร่วมสายโลหิต เป็นบุคคลสัญชาติไทย โดยมีการดำเนินโครงการตรวจสารพันธุกรรม DNA อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 -22 มีนาคม 2565 ซึ่งมีผู้ได้ตรวจ DNA รวม 204 ราย เป็นผู้ประสบปัญหา 131 รายบุคคลอ้างอิง 73 ราย โดยอำเภอจะทำการตรวจสอบหลักฐานเพิ่มเติมใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นบุคคลผู้ประสบปัญหา 131 รายก็จะได้รับการรับรองสัญชาติไทย ทำบัตรประจำตัวประชาชน เป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์

สำหรับ 2 กรณีผู้เฒ่าไร้สัญชาติคือ นางกลีสอ โชดกดิลก อายุ 72 ปี และนางแลพะ กือลวย อายุ 75 ปี ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมโครงการตรวจ DNA เนื่องจากพี่ซึ่งเป็นคู่ตรวจ  ได้สัญชาติไทยด้วยเหตุส่วนตน  ทำให้ไม่ส่งผลถึงผู้ร่วมสายโลหิต แม้ตรวจดีเอ็นเอก็ไม่สามารถดำเนินการในส่วนต่อไปได้ จึงมีการหารือ กับนายอดิศักดิ์ ดวงจินดา อำเภออมก๋อย และนายอังสุเกติ์  วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ และผู้อำนวยการสำนักสหวิทยาการคดีพิเศษ DSI และมอบให้ปลัดฝ่ายทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการ (นายนพรัตน์ จันทะอินทร์) ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ลัวะทำงานในพื้นที่ชุมชนชาติพันธ์มาแล้ว 18 ปี  จึงเห็นใจและเข้าใจสภาพปัญหาของชาวบ้าน คือความยากจน 

การอยู่ในพื้นซึ่งเดินทางยากลำบาก การไม่รู้ภาษาไทย  จึงใช้วิธีสอบสวนแม่เฒ่าทั้ง 2  และพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ 4 ราย คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อยรวมทั้งมอบให้ผู้ใหญ่บ้านกะเบอะดินทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อรับรองว่าแม่เฒ่าทั้ง 2เป็นคนดั้งเดิมที่เกิดและมีภูมิลำเนาในหมู่บ้านมาตลอดชีวิต เมื่อรวบรวมหลักฐานทั้งหมดพร้อมความเห็นแล้ว ปลัดจึงทำเรื่องเสนอนายอำเภอ เพื่อพิจารณาอนุมัติ

ต่อมานายอำเภอพิจารณาแล้วอนุมัติ โดยเป็นไปตามตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎรพ.ศ. 2535 ข้อ 93 ซึ่งระบุว่า “คนสัญชาติไทย ไม่มีชื่อและรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้าน(ท.ร.14) เพราะตกสำรวจ ตรวจสอบ ทะเบียนราษฎรพ.ศ. 2499 ความประสงค์จะขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ให้ยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน และได้รับบัตรประชาชนไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เครือข่ายชาวกะเหรี่ยงอำเภออมก๋อย ภาคประชาสังคม ความสำเร็จจึงเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นแบบอย่างที่ดีของการบูรณาการทำงานข้ามกระทรวง” อดีตสมาชิกวุฒสภา กล่าว 

นางเตือนใจกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติ 1.1 แสนคน ถ้ามีการบูรณาการเช่นนี้จะทำให้คนทำงานในพื้นที่มั่นใจ ซึ่งดีเอสไอได้ทำหน้าที่อำนวยความเป็นธรรม อยากเห็นความร่วมมือเช่นนี้เกิดขึ้นทุกพื้นที่บางอำเภอผู้เฒ่าเป็นชาวเขาดั้งเดิมเกิดและอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และบางพื้นที่ผู้เฒ่าย้ายเข้ามาใหม่แต่อยู่มาอย่างน้อย 40 ปีซึ่งต้องแปลงสัญชาติแต่กลไกเป็นไปอย่างล่าช้า ควรยกเครื่องพัฒนากลไกให้มีประสิทธิภาคมากขึ้น

Related Posts

Send this to a friend