HUMANITY

UNHCR ชื่นชมรัฐบาลไทยที่แก้ปัญหาเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งมีพันธกิจเพื่อแก้ไขและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ แสดงความชื่นชมกับก้าวสำคัญของประเทศไทยในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดกระบวนการให้สถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและสัญชาติกับประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนเกือบครึ่งล้านคน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานและทำประโยชน์ให้กับประเทศ

ภายใต้ร่างหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567 นี้ จะส่งผลให้บุคคลที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน รวมถึงชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนกว่า 335,000 คน ได้รับการกำหนดสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวร) และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทยจำนวนกว่า 142,000 คน มีสิทธิได้รับสัญชาติไทย โดยผู้ที่ได้รับสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวรจะสามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้ หลังจากถือสถานะดังกล่าวแล้วเป็นเวลา 5 ปี

“สิ่งนี้นับว่าเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญ” แทมมี่ ชาร์ป ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว “การดำเนินการนี้จะเป็นการลดจำนวนบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่มากที่สุดเท่าที่เคยปรากฎบนโลกนี้”

จำนวนคนไร้รัฐไร้สัญชาติ 484,000 คน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติเกือบ 600,000 คน ที่จดทะเบียนโดยรัฐบาลไทย ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมายให้เป็นพลเมืองของประเทศใดๆ แต่พวกเขามีจุดเกาะเกี่ยวที่ชัดเจนและแน่นแฟ้นกับประเทศไทยมากกว่าที่อื่นๆ และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มนี้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนทั้งในทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของประเทศไทยมาหลายทศวรรษ

หลักเกณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติดังกล่าว จะช่วยหนุนเสริมให้พวกเขามีศักยภาพและทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากหลังจากได้รับสัญชาติและสถานะเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พวกเขาจะไม่ถูกจำกัดการเดินทางเพื่อการศึกษาและมีโอกาสในการหางานทำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเติมเต็มความต้องการด้านการพัฒนาประเทศของไทย หากปราศจากสัญชาติและสถานะดังกล่าวแล้ว บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในไทยต้องเผชิญความยากลำบากในการเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงาน

ภายใต้ร่างหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนี้ จะเร่งรัดกระบวนการการยื่นขอสัญชาติและสถานะเข้าเมืองให้รวดเร็วและมีการปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต้องมีความซื่อสัตย์ต่อประเทศไทย มีความประพฤติดี และไม่มีประวัติก่ออาชญากรรม รวมทั้งต้องไม่มีเอกสารหลักฐานสัญชาติของประเทศอื่น โดยกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลานานและได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติโดยรัฐบาลไทยระหว่าง พ.ศ. 2527-2554

กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวรวมถึงชาวมอแกน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทยว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของไทย หลังจากที่ต้องเผชิญความสูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ. 2547 ชาวมอแกนรุ่นแล้วรุ่นเล่าดำรงชีวิตอยู่ในท้องทะเลและตามหมู่เกาะที่ห่างไกลในเขตประเทศไทย ชาวมอแกนจำนวนมากไม่เคยได้รับการทำทะเบียนราษฎรกับทางการไทย ในช่วงสัปดาห์นี้ UNHCR สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทยโดยจัดหน่วยบริการด้านทะเบียนราษฎรเคลื่อนที่ครบวงจรขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน ณ เกาะพยาม จังหวัดระนอง ทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรม

นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของการทำงานอย่างต่อเนื่องของ UNHCR ที่สนับสนุนความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ นอกจากการสนับสนุนด้านงบประมาณแล้ว UNHCR ยังให้คำแนะนำและความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมที่กำลังดำเนินงานเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยด้วย โดยช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในการเตรียมคำร้องและเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นขอสัญชาติและสถานะบุคคลตามกฎหมาย และร่วมส่งเสริมหลักการประกันการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ

ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ในความพยายามที่จะยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรสากลเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ฟิลิปโป กรันดี นอกจากนี้ ณ ที่ประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ประเทศไทยยังให้คำมั่นที่จะแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับเด็กที่เกิดในประเทศไทย และประเทศไทยยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในแคมเปญ “Get Every One in the Picture” ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เพื่อให้ปี ค.ศ. 2015-2024 เป็นทศวรรษแห่งการทะเบียนราษฎรและสถิติชีพในภูมิภาคนี้

Related Posts

Send this to a friend