HUMANITY

เปิดตัวชุมชนออนไลน์ ‘เรา’ ช่องทางให้กำลังใจของเพื่อนที่เข้าใจ

วันนี้ (11 พ.ย. 66) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา และไซด์คิก (Sidekick) องค์กรออกแบบการสื่อสารเพื่อสังคม จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวชุมชนออนไลน์ “เรา” ทางเลือกสำหรับทุกคนที่ต้องการ “เพื่อน” ที่เข้าใจ หลังพบการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์กระทบต่อสุขภาพจิต พร้อมจัดเวทีเสวนาเปิดข้อมูลสถิติสถานการณ์การถูกคุกคามบนโลกออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่น วัยเริ่มทำงาน และแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินงานยุติปัญหาความรุนแรงโดยจัดงาน “เรา” พื้นที่พลังบวก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ผลักดันให้เป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญร่วมแก้ไข พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์ม “เรา” ชุมชนออนไลน์เสริมพลังหญิง ทดลอง Public Beta Testing ก่อนใช้งานจริงในต้นปี 2567 และกิจกรรมเสวนา “พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัย หน้าตาเป็นอย่างไร ผู้ใช้ต้องเป็นคนกำหนด” นิทรรศการทำความเข้าใจกับคำว่า Trauma หรือ เหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ

นางภรณี เปิดเผยว่า จากข้อมูลขององค์กรเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) พบว่า 88% ของผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถูกคุกคามทางเพศบนออนไลน์ โดยเด็กหญิงวัยรุ่นและคนกลุ่มเปราะบางรับผลกระทบมากที่สุด สาเหตุสำคัญจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นภารกิจหลักที่ สสส. ขับเคลื่อนไปพร้อมกับผลักดันความรุนแรงเป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อลดความรุนแรงอันเนื่องจากเหตุแห่งเพศ โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.พัฒนาองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติในการลดความรุนแรง

2.พัฒนาต้นแบบในระดับชุมชนและสถานประกอบการ

3.เสริมศักยภาพแกนนำ/เครือข่ายลดความรุนแรง

4.สนับสนุนการขับเคลื่อนงานนโยบายลดความรุนแรง

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ปี 2564-2566 แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ ร่วมกับ Sidekick และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ศึกษาข้อมูลกับเยาวชนหญิงที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน พบว่าเคยประสบเหตุการณ์ถูกคุกคาม หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 270 คน จาก 18 มหาวิทยาลัย โดย 75 % เคยถูกคุกคามทางเพศโดยคนแปลกหน้าในที่สาธารณะ 58 % ถูกคุกคามในพื้นที่ออนไลน์ นอกจากนี้ 87 % ของเยาวชนกลุ่มดังกล่าว ระบุว่าเมื่อเจอเหตุการณ์ถูกคุกคาม จะเลือกขอความช่วยเหลือจากเพื่อนและคนในครอบครัว มีเพียง 20% ที่เลือกใช้ช่องทางความช่วยเหลือแบบเป็นทางการ เช่น จิตแพทย์ ตำรวจ และสายด่วนต่าง ๆ และอีก 10% ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากแหล่งใด ๆ เลย

ตุลย์ ปิ่นแก้ว ผู้ก่อตั้ง ไซด์คิก (Sidekick) กล่าวว่า แนวคิดของไซด์คิกต้องการจะออกแบบโดยมองไปที่ผู้ใช้งาน ที่เรียกว่าเป็นกลุ่ม “Digital Native” หรือวัยที่เกิดมาพร้อมกับอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาเยอะที่สุด หรือช่วงอายุตั้งแต่ 18-30 ปี ตั้งแต่กลุ่มนักศึกษาจนถึงวัยเริ่มทำงาน ซึ่งต้องการชุมชนออนไลน์ที่มีคนที่เข้าใจ กล่าวคือคนที่เคยประสบเหตุการณ์คล้ายกัน มาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์อย่างไม่ต้องเปิดเผยตัวตน (Anonymous) เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยชุมชนดังกล่าวต้องสามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชม. จนเป็นที่มาของการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์

ภัสรนันท์ อัษฎมงคล หรือ เบียร์ กล่าวว่า ช่วงที่เกิดวิกฤต มีแม่และผู้จัดการที่คอยดูแล สนับสนุน และให้กำลังใจตลอด ทำให้สามารถพูดว่าเกิดอะไรได้อย่างตรงไปตรงมา ในฐานะที่ผ่านประสบการณ์มา อยากบอกว่าอย่าอายที่จะปกป้องตัวเองหรือขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะเราคือผู้ถูกกระทำ หรือได้รับความเดือดร้อน ไม่ควรต้องอาย การแบกไว้คนเดียวไม่ได้ช่วยอะไร

เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดเจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang กล่าวว่า Trauma คือผลกระทบไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น Trauma ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะผ่านประสบการณ์ชีวิตมาแตกต่างกัน ซึ่งการเยียวยาแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การเยียวยาไม่ใช่การแข่งขัน ไม่มีเส้นชัย ต้องให้เวลา และต้องใจเย็นกับตัวเอง ต้องเป็นคนสุดท้ายที่จะรู้สึกเป็นศัตรูกับตัวเอง

รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ นักวิชาการอิสระด้านสุขภาพจิตและเพศภาวะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องประเด็นการคุกคามทางเพศ และมองแค่ว่าหากคนไข้มาหาเพราะเกิดความเครียด หรือนอนไม่หลับก็เพียงจ่ายยาให้กิน แต่ในประเด็นการคุกคามทางเพศ เป็นสังคมที่มีปัญหา คนที่ทำความรุนแรงกับเขาคือปัญหา กรอบการคิดด้านเพศสภาวะ (Gender Lens) จึงมีความสำคัญ อันดับแรกต้องรับฟังก่อน จะเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วปัญหาอยู่ที่สังคม คนไข้ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ยังมีน้อย และคนที่เข้าไปรับบริการในโรงพยาบาลมีเป็นจำนวนมาก

Related Posts

Send this to a friend