HUMANITY

เมื่อเงินเวเนซุเอลา มีค่าเพียง “ของที่ระลึก” สัญลักษณ์ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา

ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งในประเทศเวเนซุเอล่า ช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวเวเนซุเอลา ต้องลี้ภัยและอพยพออกนอกประเทศแล้วกว่า 4.3 ล้านคน ในจำนวนนั้นอพยพมายังประเทศโคลอมเบีย มากกว่า 1.4 ล้านคน ทำให้โคลอมเบียต้องรับมือกับภารกิจเพื่อมนุษยธรรมนี้

ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR กำลังต้องการงบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท ในการช่วยเหลือการลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ละตินอเมริกัน

The Reporters ลงพื้นที่ประเทศโคลอมเบีย กับ UNHCR เริ่มวันแรกที่เมืองโบโกต้า เมืองหลวงของโคลอมเบีย

ชาวเมืองโบโกต้า พากันมาพักผ่อนในจัตุรัส แคนเดอลาเรีย (La Candelaria) ย่านประวัติศาสตร์ ที่มีอาคารโบราณเก่าแก่นับร้อยปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของโบโกตา

ในย่านถนนคนเดินในเมืองโบโกต้า เราก็พบศิลปะที่น่าเศร้า เมื่อศิลปินชาวเยอรมัน ที่เคยอยู่เวเนซุเอลามา 21 ปี ถ่ายทอดโศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านการนำธนบัตรเวเนซุเอลาที่ไร้ค่าแล้วมาวาดภาพขายเป็นของที่ระลึก

ศิลปินชาวเยอรมัน วาดภาพที่ระลึกบนธนบัตรขายให้นักท่องเที่ยว

“มันน่าเศร้าที่เมืองที่ผมอยู่กว่า 21 ปี ต้องล่มสลาย เงินเหล่านี้ไม่มีค่าใดๆอีกแล้ว ผมแค่นำมาเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้คนได้เห็นถึงโศกนาฏกรรมของชาวเวเนซุเอลา และอยากให้กำลังใจพวกเขาเพื่อนของผมที่เวเนซุเอลา” ศิลปินชาวเยอรมัน กล่าว

ประเทศโคลัมเบีย กำลังมีการพัฒนาในทุกด้าน นับจาก นายฮวน มานูเอล ซานโตส ประธานาธิบดีโคลอมเบีย บรรลุข้อตกลงสันติภาพ ในรอบกว่า 50 ปีกับ กองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย หรือกลุ่มฟาร์ก เมื่อปี 2559 ถือเป็นการยุติสงครามความขัดแย้งในประเทศซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 260,000 คน

ปัจจุบันโคลอมเบียเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่มีการลงทุนจากต่างประเทศสูงสุดในโลก การสร้างสันติภาพ ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้โคลอมเบียกำลังฟื้นฟูประเทศ รวมทั้งปัญหายาเสพติดที่ นำศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของไทยมาเป็นต้นแบบด้วย

เมืองโบโกต้า มองจากยอดเขามองเซอร์เรต (Monserrate) เทือกเขาที่สูงกว่า 3,152 เมตร จึงเต็มไปด้วยอาคาร สัญลักษณ์ของการพัฒนา มากกว่าที่คนทั่วโลกรู้จักว่าเป็นที่ตั้งของกาแฟที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

โคลอมเบีย ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เราเห็นทั่วเมืองโบโกต้า เป็นเมืองแห่งกราฟิตี้ ที่รัฐบาลส่งเสริมให้เปลี่ยนภาพเมืองยาเสพติดให้เป็นเมืองศิลปะ และ โบโกต้า ยังพลิกความเป็นเมืองอาชญากรรมให้เป็นเมืองแห่งจักรยาน ภายใต้ โครงการ “ต่อต้านรถยนต์” เพื่อ “สร้างวัฒนธรรมจักรยาน” ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวีตที่ดีขึ้น

ของที่ระลึกฝีมือศิลปินชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในเวเนซุเอลามากว่า 21 ปี

จากสงครามความขัดแย้งในอดีต ทำให้ชาวโคลอมเบียต้องกลายเป็น ผู้พลัดถิ่นในประเทศสูงที่สุดในโลก กว่า 8 ล้าน คน ตั้งแต่ 1985 และต้องลี้ภัยไปประเทศต่างๆหนึ่งในนั้นคือ ประเทศเวเนซุเอลสที่วันนี้โคลอมเบีย ได้ตอบแทนน้ำใจของชาวเวเนซุเอลา รับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพมากกว่า 1.4 ล้านคน

นับจากประสบปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจล้มเหลวจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ตั้งแต่ปี 2557 ชาวเวลาซุเอลา กว่า 4.3 ล้านคน หนีตายจากเพื่อแสวงหาความปลอดภัย

“ระดับวิกฤตของเวเนซูเอลา เป็นวิกฤตหนึ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน โคลอมเบีย เคยลี้ภัยไปอยู่เวเนซูเอลา ครั้งแรกที่โคลอมเบียเปิดรับเพื่อตอบแทนที่เคยช่วยเหลือเขามาก่อน ทุกอย่างถ้ามีเหตุการณ์เป็นวิกฤตประเทศเพื่อนบ้านก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปัญหาของเวเนซูเอลา ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย จึงต้องหนีออกมาขอลี้ภัยในประเทศต่างๆ” อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผ.อ.แผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน UNHCR ประเทศไทย กล่าว

ชีวิตที่แขวนอยู่บนความเป็นความตาย ทำให้ชาวเวเนซุเอลา เดินทางแสวงหาความปลอดภัย กว่า 5,000 คนต่อวัน การขาดแคลนไฟฟ้า น้ำประปาและโรงพยาบาล ทำให้แม่ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 65 เปอร์เซ็นต์ และ เด็กเสียชีวิตหลังเกิดเพียง 6 วัน เพิ่มขึ้น 53%

นี่จึงเป็นวิกฤตที่น่าเศร้าที่ทำให้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ต้องให้การช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วนในปีนี้ ต้องการงบประมาณ กว่า 1,300 ล้านบาท จาก 4,900 ล้านบาท

ร่วมบริจาคส่ง SMS พิมพ์ 99 ส่งมาที่ 4141099 เพื่อบริจาคครั้งละ 99 บาท หรือบริจาคที่
www.unhcr.or.th

ข่าว : ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
ภาพ : ศักดิภัท ประพันธ์วรคุณ

Related Posts

Send this to a friend