HUMANITY

ศาลโลกเริ่มพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ชาวพม่าร่วมสนับสนุนนางซูจี

วันที่ 10 ธันวาคม 2562 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ องค์คณะผู้พิพากษา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ออกนั่งบัลลังค์ พิจารณาคดีที่ ประเทศแกมเบีย ยื่นฟ้องรัฐบาลเมียนมา หรือพม่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรัฐบาลพม่าไปต่อสู้คดี ที่มีการจับตาจากทั่วโลก หลังจากชาวโรฮิงญา กว่า 7 แสนคนต้องอพยพจากรัฐยะไข่ ไปยังประเทศบังคลาเทศ ชาวโรฮิงญา นับล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ออกรายงานชี้ให้เห็นความพยายามในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ทั้งการเผาบ้าน การฆ่า การข่มขืน ที่เป็นการประหัตประหารอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2559-2560

ประเทศแกมเบีย ที่เป็นประเทศมุสลิมในแอฟริกาได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรชาวโรฮิงญา และรัฐบาลหลายประเทศ เช่น แคนาดา

ในขณะที่ชาวพม่า ที่สนับสนุนพรรค NLD และชาวพุทธ ได้ออกมาเคลื่อนไหว สนับสนุนและยืนเคียงข้างนางซูจี ในฐานะตัวแทนรัฐบาลที่ไปชี้แจงเรื่องนี้ แม้การดำเนินการและขัอกล่าวหาจะพุ่งตรงไปที่กองทัพพม่า

ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่า มีการออกแถลงการณ์สนับสนุนศาลโลกในการดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยชี้ว่า เป็นรูปแบบการก่ออาชญากรรมของพม่าที่ทำเช่นเดียวกับที่กระทำกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากว่า 70 ปี ทั้งชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ทำให้องค์กรไทใหญ่ 17 องค์กร ออกแถลงการณ์ และ ยกพยานหลักฐานที่ชัดเจนในช่วงปี 1996 ถึง 1998 ที่กองทัพพม่า ปฏิบัติการตามนโยบาย 4 Cut Policy โจมตี ประชาชน พลเรือน เพื่อสร้างความอ่อนแอให้กับกองกำลังกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้อย่างโหดร้าย การปล้นสะดม ข่มขืน ทำร้ายร่างกายและฆ่า การเผาทำลายบ้านเรือน และการบังคับให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน รวมไปถึงการกดขี่รูปแบบต่าง ๆ ทำให้มีหมู่บ้านกว่า 1,400 แห่งต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้าง มีประชาชนกว่า 300,000 คน ต้องพลัดถิ่นฐาน ส่วนใหญ่ได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย

รายงานของเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ (SWAN) และ มูลนิธิสิทธิมนุษยชน (SHRF) เปิดเผยว่าในปี 1996 ถึง 2002 ที่มีการโจมตีหมู่บ้านในรัฐฉานใต้ มีสตรีและเด็กถูกทารุณกรรมทางเพศโดยทหารพม่า 173 เหตุการณ์ มีผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างน้อย 625 คน

ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานเหนือ 3 กลุ่มทั้งกลุ่มโกก้าง ดาระอั้ง และกองทัพอาระกัน รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง KNU ออกแถลงการณ์สนับสนุนศาลโลกด้วย

นอกจากนี้ นายกันมอ ผู้นำชาติพันธุ์คะฉิ่น KIA มีการติดตามถ่ายทอดสดศาลโลกพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา อย่างใกล้ชิด เพราะต่างเผชิญการต่อสู้อันยาวนานกับกับกองทัพพม่า และกระบวนการสันติภาพในพม่า ยังไม่มีความคืบหน้า แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นพลเรือนภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี มาเกือบ 4 ปี

Related Posts

Send this to a friend