HEALTH

เตือนเลือกอาหารเจให้ดี หลังพบผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ มี DNA สัตว์ปนเปื้อน ผักดองมีวัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลกินเจ (วันที่ 28 กันยายน ถึง วันที่ 7 ตุลาคม 2562) ผู้ที่กินเจ จะงดการบริโภคเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และผักที่มีกลิ่น แล้วบริโภคอาหารที่ทำจากแป้ง ธัญพืช ผักและผลไม้ โดยอาหารที่นิยมบริโภคในเทศกาลนี้ ได้แก่ ผักกาดดอง เกี่ยมฉ่าย หัวไชโป้ว กาน่าฉ่าย รวมถึงอาหารจำพวกแป้งและโปรตีนจากพืช คือ ถั่วเหลือง หรือ โปรตีนเกษตร และโปรตีนจากแป้งสาลี หรือ หมี่กึง นอกจากนี้แล้วอาหารเจในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาการแปรรูปต่างๆ ให้มีหน้าตา รสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อกันอย่างแพร่หลาย เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ทอดมัน เป็นต้น อาหารเจเหล่านี้บางครั้งนำเข้ามาจากต่างประเทศ มีการขายตลอดทั้งปี เนื่องจากมีผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ซึ่งอาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นม โดยไม่ใช่สำหรับทำอาหารเจ แต่ขายเป็นอาหารเจ โดยไม่เข้าใจหรือไม่ได้ตรวจสอบ และบางครั้งการผลิตอาจใช้สายการผลิตเดิมที่ใช้ในการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้ทำความสะอาดที่ดีพอก็จะทำให้พบการปะปนของเนื้อสัตว์ในอาหารเจได้

ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังอาหารในช่วงเทศกาลกินเจ มาตั้งแต่ปี 2556 – 2562 โดยการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารเจอย่างต่อเนื่อง จากผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า
กลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ตรวจพบ DNA ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน คิดเป็นร้อยละ 8.3 ส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างที่ไม่มีฉลาก
กลุ่มผักดอง เช่น ผักกาดดอง เกี๋ยมฉ่ายยำ ไชโป้วยำ ไชโป้วฝอย ตรวจพบวัตถุกันเสีย (กรดเบนโซอิค) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 53.3 ปริมาณที่พบ 2,151-5,619 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (โดยกรดเบนโซอิค เป็นวัตถุกันเสีย ที่อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อได้รับปริมาณมากอาจทำให้เกิดอันตราย ผู้ที่แพ้สารชนิดนี้ จะมีอาการผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องร่วงได้)
กลุ่มอาหารประเภทเส้น เช่น เส้นใหญ่ เส้นหมี่ เส้นเล็ก บะหมี่ เส้นหมี่ซัว ตรวจพบวัตถุกันเสีย (กรดซอร์บิค) คิดเป็นร้อยละ 31.3 (กรดซอร์บิค ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารประเภทเส้น และสามารถใข้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในอาหารประเภทอื่น โดยอาหารประเภทเส้น อนุญาตให้ใช้เฉพาะกรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)
– ตรวจพบสีอินทรีย์สังเคราะห์ในเส้นหมี่ซัว ร้อยละ 38.5

กรมฯ จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ ในปี พ.ศ. 2562 พบว่า ผักที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาล 10 อันดับ ได้แก่ กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักบุ้ง คะน้า แครอท มะระ ฟักเขียว หัวไชเท้าและผักโขม ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างไม่ผ่านมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 21.1 จึงแนะนำผู้ที่จะรับประทานอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจนี้ว่า การรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจ และอาหารต้องมีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขสาระบบอาหารที่ชัดเจน และหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือซื้ออาหารที่มีการแปรรูปและรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์มากจนเกินไป สำหรับผักสด/ผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาด

Related Posts

Send this to a friend