HEALTH

ปลดล็อก ‘ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง’ จำหน่ายในร้านขายยาทั่วประเทศ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อก เพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เผยปีนี้มีชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐาน อย. 2 ชนิด รู้ผลไว เตรียมวางจำหน่ายในร้านขายยาทั่วประเทศสิ้นเดือน ส.ค.นี้ หลังรู้ผลจะได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้เร็วตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเอดส์ลดลง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรคของไทยบรรลุเป้ายุติปัญหาเอดส์ 3 ด้าน ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้เสียชีวิต และปัญหาการตีตราลดลง ในอีก 9 ปี ย้ำเครื่องมือป้องกันเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ให้ผลดีที่สุดขณะนี้ คือ ถุงยางอนามัย

วันนี้ (31 ส.ค. 64) นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทย ได้ดำเนินการตามปฏิญญาทางการเมืองที่ประกาศมุ่งมั่นยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 หรือในอีก 9 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่เกิน 1,000 ราย/ปี ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ ไม่เกิน 4,000 ราย/ปี และลดการรังเกียจตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย ให้ได้ร้อยละ 90 ซึ่งผลการดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายภาคประชาสังคม เป็นอย่างดี ทำให้สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ในประเทศขณะนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา พบ 4,855 ราย 

นายแพทย์ปรีชากล่าวต่อว่า มาตรการที่ไทยจะนำมาใช้แก้ไขปัญหาเอดส์ในปี 2564 นี้ ก็คือ การสนับสนุนให้ประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถใช้ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ขับเคลื่อนร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หน่วยงานอื่นๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2558 เป็นต้นมา ตามมติคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง โดยในปี 2564 มีชุดทดสอบผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานจาก อย.แล้ว 2 ชนิด คือ ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีจากการเจาะเลือดปลายนิ้วมือ รู้ผลภายใน 1 นาที และชุดตรวจโดยการใช้น้ำลายอ่านผลได้ใน 20 นาที 

เตรียมวางจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วประเทศตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะสอดรับกับข้อจำกัดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือสงสัยว่าติดเชื้อ ไม่สามารถไปตรวจหาเชื้อที่สถานพยาบาลตามปกติ ชุดทดสอบนี้จะทำให้ประชาชนนำไปใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้น เพื่อให้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเองได้เร็ว และตรวจยืนยันอีกครั้งที่สถานพยาบาล หากพบว่าติดเชื้อจะเข้าสู่ระบบดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีในสถานพยาบาล ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วตามสิทธิการรักษา จนสามารถลดเชื้อไวรัสในกระแสเลือดได้ และไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่คนอื่น 

“ชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเอง ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์ชาย กลุ่มหญิงข้ามเพศ กลุ่มพนักงานบริการ ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น และประชาชนทั่วไป หากพบว่าติดเชื้อ ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตนี้ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ จะนำไปสู่การปรับสูตรยาให้กินง่ายขึ้น ทั้งขนาดและจำนวนลดลง และลดอาการแทรกซ้อนหรือผลกระทบระยะยาวต่อร่างกาย จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตดีเหมือนคนปกติ” นายแพทย์ปรีชากล่าว 

ทางด้านแพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวเสริมว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการของสมาคมโรคเอดส์ ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้เปรียบเทียบสถานการณ์การแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีและโรคโควิด-19 ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเหมือนกันแต่ความรุนแรงและแนวทางในการป้องกัน ควบคุมโรค ต้องใช้วิธีการและเทคโนโลยีด้านการตรวจคัดกรอง การดูแลรักษาที่แตกต่างกัน โดยการติดเชื้อเอชไอวีมีการระบาดทั่วโลกตั้งแต่ปี 2524 จนถึงขณะนี้ เกือบ 40 ปีแล้ว มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก จำนวน 37.7 ล้านราย เสียชีวิต 36 ล้านราย สาเหตุการติดเชื้อมาจากเพศสัมพันธ์และทางเลือด โดยปัจจุบัน มียาต้านไวรัสรักษา และได้ผลดีมาก สามารถลดจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดลดลงได้มาก 

ส่วนวัคซีนในการป้องกันไวรัสเอชไอวี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในเฟสที่ 3 ดังนั้น มาตรการการป้องกันหลักยังเน้นการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมทั้ง การกินยาต้านไวรัสสำหรับป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อหรือเพร็พ(PrEP) โดยสรุปแล้วปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีส่งผลกระทบระดับโลกในระดับสูง 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2527–2563 รวมเกือบ 36 ปี มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่ยังมีชีวิตอยู่ 462,376 คน ในปี 2563 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,855 คน เสียชีวิต 11,882 คน ผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิต รู้สถานะการติดเชื้อของตนเองร้อยละ 94.3 ขณะนี้อยู่ในระบบการรักษาในสถานพยาบาลทั่วประเทศด้วยยาต้านไวรัสร้อยละ 83.5 ในจำนวนนี้สามารถกดไวรัสได้สำเร็จ ร้อยละ 97.2 จึงเชื่อมั่นว่าเราจะประสบผลสำเร็จในการยุติปัญหาได้ตามเป้าหมาย

Related Posts

Send this to a friend