HEALTH

เริ่มแล้ว ‘APEC Health Week’ พบ 17 เขตเศรษฐกิจ มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ

เริ่มแล้ว ‘APEC Health Week’ หารือวันแรก พบ 17 เขตเศรษฐกิจ มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ เกิดน้อย-วัยแรงงานลดลง กระทบเศรษฐกิจระยะยาว

วันนี้ (22 ส.ค. 65) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมข้อหารือเชิงนโยบาย ในประเด็น “ครอบครัวคุณภาพ (Smart Families)” ในการประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค. 65 ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ

นายสาธิตกล่าวว่า ปัจจุบันสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีถึง 17 เขตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญปัญหาโครงสร้างประชากร มีอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมต่ำกว่าอัตราการทดแทน ทำให้จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรราว 66 ล้านคน กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในไม่ช้า มีอัตราการเจริญพันธุ์รวม 1.24 ถือว่าต่ำกว่าระดับทดแทน ที่อัตราการเจริญพันธุ์รวมควรอยู่ที่ประมาณ 1.6 เนื่องจากมีเด็กแรกเกิดลดลงทุกปี โดยข้อมูลจากปี 2560 พบเด็กเกิดใหม่ประมาณ 7 แสนคน ปัจจุบันเหลือประมาณ 5.6 แสนคนต่อปี จำนวนการเกิดลดลงเรื่อยๆ จนใกล้เคียงจำนวนการตาย หากปล่อยไว้เช่นนี้ การเกิดจะน้อยกว่าการตาย ประชากรไทยอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานที่ต้องอุ้มชูดูแลทั้งสังคมวัยเด็ก และวัยสูงอายุ ต้องแบกรับภาระมากขึ้น โดยคาดว่าอีก 40 ปีข้างหน้า คนวัยทำงานจะลดลง 15 ล้านคน แต่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 12 ล้านคน

นายสาธิต ยังกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์และหารือเพื่อสร้างฉันทามติในการแก้ไขปัญหา โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนครอบครัว ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชนของแต่ละเขตเศรษฐกิจเอเปค เข้าร่วม โดยเบื้องต้น ประเทศไทยได้นำเสนอโครงการครอบครัวคุณภาพ หรือ Smart Families

“ครอบครัวคุณภาพ หรือ Smart Families คือนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 เพื่อส่งเสริมการเกิดที่มีความพร้อม มีความตั้งใจ และส่งเสริมการดูแลเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมาให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต มีการออก พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านรูปแบบของคณะกรรมการ ทำให้สามารถลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ลงได้ครึ่งหนึ่งก่อน 10 ปี และตั้งเป้าหมายจะลดอัตราคลอดในวัยรุ่น ภายในปี 2027 ให้เหลือไม่เกิน 1.5 ต่อพันประชากร นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาการหลุดจากระบบการศึกษา มีการจัดสวัสดิการต่างๆ ในการช่วยเหลือแม่วัยรุ่นด้วย” นายสาธิต กล่าว

Related Posts

Send this to a friend