HEALTH

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ เปิด 10 ของเล่นอันตราย ไม่ควรซื้อเป็นของขวัญให้ลูก

วันนี้ (29 ธ.ค. 65) รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเรื่อง “10 ของเล่นอันตรายที่พ่อแม่ต้องระวังในการซื้อเป็นของขวัญให้กับเด็ก” โดยระบุว่า ปัญหาความปลอดภัยในเด็กมี 5 เรื่องใหญ่ คือ อุบัติเหตุ ความรุนแรง มลพิษ ภัยพิบัติ และภัยจากข้าวของเครื่องใช้

โดยในสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มีระบบการบันทึกการบาดเจ็บจากผลิตภัณฑ์ แต่ในประเทศไทยยังไม่มี ทำให้การแก้ไขถอดถอนผลิตภัณฑ์ออกจากตลาด หรือชี้และให้เจ้าของผลิตภัณฑ์นำไปแก้ไขการผลิต ยังไม่เกิดขึ้น

จากข้อมูลของสหรัฐฯ ล่าสุด (22 พ.ย. 65) พบอัตราการบาดเจ็บในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี จากของเล่นถึง 404 คน ต่อ 1 แสนคน ที่น่าตกใจคือ เป็นของเล่นที่มีขายในไทยแทบทุกชิ้น ในจำนวนนี้ มี 10 ของเล่นที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ประกอบด้วย

1) ของเล่นประเภทลูกล้อใช้ในการขี่ (ride-on toy) มีสัดส่วนร้อยละ 30 ของการตายในเด็กที่เกิดจากของเล่น และยังพบว่า มีเด็กต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลถึง 71,500 รายต่อปี 2) ของเล่นชิ้นเล็ก อุดกั้นทางเดินหายใจ อันตรายต่อเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี เพราะเด็กอายุ 4 เดือนจะเริ่มเอามือทั้ง 2 ข้างมาจับกุมกันตรงกลางแล้วเอาเข้าปากดูดอม ของเล่นที่มีความกว้างน้อยกว่า 3.71 ซม.จึงไม่ควรให้เด็กเล่นหรือหยิบได้ถึง

3) ลูกโป่ง เสี่ยงอุดตันทางเดินหายใจ โดยเด็กเป่าลูกโป่งเอง จังหวะที่หายใจเข้า เกิดโอกาสที่ลูกโป่งจะถูกดูดเข้าไปในปากและลงไปในหลอดลม หรือเอาลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเอามาอมไว้หรือเคี้ยวเล่น เมื่อวิ่ง ปีนป่าย หรือหัวเราะ อาจทำให้สำลักลูกโป่งที่อมไว้ จึงไม่ควรอนุญาตให้เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปีเล่น 4) ของเล่นที่มีถ่านแบตเตอรี่กระดุมที่หลุดออกง่าย ทำให้เด็กเอาเข้าปากได้ง่าย หากมีแบตเตอรี่ขนาด 2.5 ขึ้นไป จะติดที่หลอดอาหารได้ง่าย ทำให้สารเคมีในถ่านรั่วซึมออกมาเป็นด่างกัดกร่อนหลอดอาหารทะลุได้

5) ของเล่นที่เป็นแม่เหล็กหลายชิ้นมากกว่า 1 ชิ้นขึ้นไป ที่มีขนาดไม่ใหญ่ สามารถกลืนลงได้ง่าย หากกลืนมากกว่า 1 ชิ้น แม่เหล็กที่อยู่กันคนละตำแหน่งในลำไส้จะดูดกันทำให้หนีบผนังลำไส้ไว้แน่นจนขาดเลือด ทำให้ลำไส้ทะลุ หรือภาวะลำไส้บิดเกลียว 6) ของเล่นดูดน้ำพองตัว บางชนิดขยายได้ถึง 200 เท่า หากเด็กกลืนเข้าไป อาจเกิดภาวะลำไส้อุดตันได้ แต่หากสำลักเข้าหลอดลมจะอุดกั้นทางเดินหายใจ ขาดอากาศได้

7) ของเล่นชนิดปืน เช่น ปืนอัดลม ปืนลูกดอก ปืนเหรียญ ปืนลูกบอล เป็นต้น อาจเป็นอันตรายต่อตาได้จากแรงกระสุน ทำให้เลือดออกในช่องลูกตา บางรายอาจเกิดต้อกระจกตามมา หรือทะลุเข้าฝังในลูกตาหรือกล้ามเนื้อตา บางรายเกิดการแตกของลูกตาและต้องผ่าตัดควักลูกตาทิ้งไป 8) วัตถุระเบิด พลุ ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น มักทำให้เกิดการบาดเจ็บที่มือ สูญเสียนิ้วมือ ตาบอด ใบหน้าทำให้เกิดแผลเป็น หรือไฟไหม้ทั้งตัวทำให้สูญเสียชีวิตได้

9) ของเล่นที่มีสารเคมีเป็นพิษ มี สไลม์ (slime) ที่ใช้กาวเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ทาเลทที่ทำให้พลาสติกอ่อนนิ่มทำให้รบกวนต่อมไร้ท่อมีผลต่อฮอร์โมนร่างกาย สารตะกั่วในสีเคลือบสีพ่นมีผลต่อสมองและเม็ดเลือดแดง และ 10.ของเล่นในน้ำอุปกรณ์ช่วยลอยตัวทั้งหลายที่มีคำเตือนว่าไม่ป้องกันการจมน้ำ เช่น ห่วงยางเป่าลมที่มักทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดว่าสามารถปล่อยลูกตามลำพังในน้ำได้ เพราะเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต

Related Posts

Send this to a friend