HEALTH

แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมกับ รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี นำเทคโนโลยี AI ตรวจหามะเร็งปอด ภายใน 3 นาที

แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมมือกับโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ติดตั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตรวจหามะเร็งปอด ในโรงพยาบาลระดับจังหวัดและชุมชน มุ่งหวังการขยายการเข้าถึงบริการ และการรักษาทางการแพทย์ เพื่อลดความแออัดและเพิ่มการเข้าถึง การรักษาในวงกว้าง พร้อมจัดการประชุมวิชาการให้ความรู้ บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการตรวจหามะเร็งปอด และแนวทางการรักษา ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยข้อมูลของ Global Cancer ต่อสถานการณ์มะเร็งในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบัน มีการตรวจพบผู้ป่วยใหม่ ประมาณ 190,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง แต่ละปีสูงถึง 120,000 คน ซึ่งมะเร็งที่พบมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ และท่อน้ำดี 14.4% มะเร็งปอด 12.4% และมะเร็งเต้านม 11.6% โดยมะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด

นายแพทย์อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ประธานในพิธี กล่าวว่าการแปลผลเอกซเรย์ปอด ถ้าดีที่สุดก็ต้องให้ รังสีแพทย์แปลผล แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของโรงพยาบาลรัฐบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน เอกซเรย์ปอดได้รับการอ่าน โดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ดังนั้นการที่มี AI ที่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถือเป็นเครื่องมือแพทย์ ที่มีความสามารถเทียบกับรังสีแพทย์ มาเป็นผู้ช่วยในการแปลผล จะทำให้เกิดการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมาก

ในปัจจุบันการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถ ของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอก เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อในปอด ซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ที่อาจมีขนาดเล็กหรือมองเห็นได้ยาก ภายในระยะเวลาเพียง 3 นาที ร่วมไปกับการตรวจสอบยืนยันผลจากรังสีแพทย์ เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อตรวจหามะเร็งปอดเบื้องต้น และโรคอื่นๆ ในปอด ให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้า และโรงพยาบาลโป่งน้ำร้อน แล้วกว่าพันราย ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ตรวจพบรอยโรคที่สงสัยก้อนเนื้อในปอด มากกว่า 50% และพบรอยโรคที่สงสัยก้อนเนื้อในปอด ที่มีโอกาสความน่าจะเป็น ในการเป็นโรคมะเร็งปอดสูงถึง 0.8%

ด้าน นายแพทย์ ภาสกร วันชัยจิระบุญ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า ดูแลศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงด้านมะเร็ง และประธาน cancer warrior จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน จะมีวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย หลายประการ เช่น ยามุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด และยาเคมีบำบัด เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย แต่การตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้น ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาส ในการรักษาให้หายได้มากที่สุด จึงได้ผลักดันโครงการนำร่อง เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI”

“ที่ทำงานได้ทัดเทียมกับรังสีแพทย์ มาสู่ระบบเอกซเรย์ของโรงพยาบาลรัฐ เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้เร็ว และมีโอกาสค้นพบมะเร็งปอด ในระยะเริ่มต้นได้มากขึ้น ซึ่งจะนําไปสู่การรักษาเป็นทีม ซึ่งประกอบด้วย รังสีแพทย์ (รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา รังสีร่วมรักษา) พยาธิแพทย์ ศัลยแพทย์ทรวงอก และอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา) ที่ทันท่วงที และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ของผู้ป่วยต่อไป”

สำหรับแผนการดำเนินงาน ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 40 ปี โดยเฉพาะเป้าหมาย ในการยกระดับประสิทธิภาพ การตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น คือการร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมการป้องกันโรค และถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เป็นมากกว่าการรักษา

Related Posts

Send this to a friend