HEALTH

เตือน ฮีทสโตรก เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แนะกลุ่มเสี่ยงหมั่นดื่มน้ำ เลี่ยงกิจกรรมกลางแดดนานๆ

วันนี้ (29 มี.ค. 66) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เตือนประชาชนให้ระวังฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เนื่องจากสภาพอากาศประเทศไทยในช่วงนี้ ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัด และอุณหภูมิที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชน มีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตัวเอง ในช่วงอากาศร้อน และหมั่นจิบน้ำบ่อยๆ หลีกเหลี่ยงการเครื่องดื่มที่กระตุ้นการขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ และหากพบอาการ หน้ามืด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึม สับสน หัวใจเต้นเร็ว ตัวแดงรีบพบแพทย์ทันที

นายแพทย์วีรวุฒิ เปิดเผยว่า “ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดดเป็นภาวะที่ร่างกาย ไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น จากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆสูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ หน้ามืด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึม สับสน ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการ อาจส่งผลกระทบ ที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว”

ด้าน นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า “กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงประชาชนทั่วไป สำหรับการป้องกันสามารถ ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ”

“หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม อุปกรณ์ ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ยังเพิ่มความเสี่ยงของ การได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน”

Related Posts

Send this to a friend