HEALTH

แพทย์รามาฯ เผยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพิ่มโอกาสรอดผู้ป่วย ลดความเจ็บปวด-ระยะเวลาพักฟื้นลง

โรงพยาบาลรามาธิบดี ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic surgery) นำมาใช้ผ่าตัดผู้ป่วยในหลายโรค เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย พร้อมช่วยลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้นลง ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 เครื่องในประเทศไทย หนึ่งในนั้นตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมาแล้วกว่า 10 ปี

“ดาวินชี (da Vinci Xi)” เป็นหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ผ่านการใช้งานมาแล้วกว่า 10 ปี มีคุณสมบัติเข้าถึงอวัยวะขนาดเล็กภายในเพื่อทำการผ่าตัดและเย็บแผลได้อย่างรวดเร็ว และมีความแม่นยำมากที่สุด ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยหลายโรคด้วยกัน เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับอ่อน โรคทางเดินน้ำดีอุดตันจากนิ่ว มะเร็งทางเดินน้ำดี โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะอ้วน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคซับซ้อน ซึ่งการผ่าตัดแบบปกตินั้นไม่สามารถทำการรักษาได้ แต่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยได้

ผศ.นพ.พงศธร ตั้งทวี กล่าวว่า แต่เดิมการผ่าตัดผู้ป่วยในกลุ่มอวัยวะที่อยู่ลึกในช่องท้อง เช่น ตับอ่อน ถุงน้ำดี ต่อมลูกหมาก แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องช่องท้อง ต้องเจาะแผลหน้าท้องผู้ป่วยเพื่อสอดกล้องขนาดเล็กและเครื่องมือเข้าไปตรวจดูอวัยวะภายในขณะทำการผ่าตัด ซึ่งเวลาเฉลี่ยในการผ่าตัดจะใช้เวลานาน 8-10 ชั่วโมง ใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก แต่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดลงได้ ลดการใช้บุคลากรทางการแพทย์ โดยตัวแขนกลของเครื่องมีลักษณะเป็นปลายข้อมือที่หมุนได้เหมือนข้อมือมนุษย์ ทำให้สามารถเข้าถึงอวัยวะที่อยู่ลึกได้ ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะในอวัยวะที่มีเส้นประสาทอยู่เยอะ และยังช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้นลง

ศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย กล่าวว่า การผ่าตัดอวัยวะในส่วนของไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมากนั้น มีความซับซ้อนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง แพทย์ผู้ผ่าตัดจะต้องมีความแม่นยำ รวดเร็ว และละเอียด การนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาสนับสนุน ช่วยให้เกิดความสะดวกในการผ่าตัดมากขึ้น ตัวเลนส์กล้องของหุ่นยนต์ช่วยให้แพทย์มีวิสัยทัศน์ในการมองอวัยวะภายในได้ดีขึ้น ลดทีมศัลยแพทย์ไปมากกว่าครึ่ง แต่ปัจจัยสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยกว่าหลักแสนบาท

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi) ถือเป็นรุ่นที่มีการใช้งานมาแล้วมากกว่า 10 ปี ซึ่งมูลนิธิรามาธิบดีฯ มีการจัด “โครงการระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” มูลค่า 130,000,000 บาท เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลง รวมไปถึงเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เช่นเดียวกับการรักษาโรคซับซ้อนหลายประเภทที่สามารถเบิกจ่ายได้บางส่วนในปัจจุบัน อาทิ การปลูกถ่ายตับ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

Related Posts

Send this to a friend