HEALTH

กรมสุขภาพจิต ร่วมมือ 3 องค์กร ศึกษาวิจัย อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย

วันนี้ (30 มี.ค. 66) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ,กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม,สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC)

การวิจัย “อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033)” นำเสนอองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิต และข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนา ระบบการดูแลสุขภาพจิตของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือโครงการ พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรม และอนาคตศึกษาด้านสุขภาพจิต ของ 4 หน่วยงาน เพื่อร่วมนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม และการมองอนาคต มาช่วยส่งเสริมและพัฒนาการ ให้บริการด้านสุขภาพจิตของประเทศไทย

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “การดูแลสุขภาพจิตอย่างรอบด้านของคนไทยทั้งประเทศ การร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในแต่ละภาคส่วนในแต่ละวงการ จะช่วยให้เราสามารถสนับสนุนให้คนไทย มีสุขภาพจิตที่ดีได้อย่างมหาศาล ความร่วมมือในวันนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่จริงๆแล้ว เราได้ร่วมมือกันมาก่อนหน้านี้ระยะหนึ่ง และได้ทำวิจัยร่วมกันอย่างเต็มกำลัง จนออกมาเป็นผลงาน อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย 2033 ที่เผยแพร่ในวันนี้ การวิจัยด้านอนาคตศึกษาในแง่มุมสุขภาพจิตนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทั้ง 4 องค์กร จะเสริมพลังซึ่งกันและกัน ผลักด้านองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตร่วมกัน ให้เราสามารถมองเห็นภาพอนาคต ที่เราอาจไม่เคยมองเห็นมาก่อน และเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดสร้างประโยชน์ ได้อีกมากมายในอนาคต”

“กรมสุขภาพจิตสามารถนำผลลัพธ์ จากการศึกษาด้านอนาคตศึกษาสุขภาพจิตครั้งนี้ ไปต่อยอดได้หลายด้านในหลายระดับ โดย ระดับบุคคล โดยสามารถนำไปสร้างความตระหนักรู้ กับบุคลากรของกรมสุขภาพจิต ให้มีมุมมองของภาพอนาคต ด้านสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ประยุกต์ใช้กับการทำงานของตนเอง การทำงานวิจัยและศึกษาด้านสุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อให้เกิดฉากทัศน์อนาคตอันพึงประสงค์ รวมไปถึงการสร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ระดับองค์กร โดยสามารถนำไปใช้ด้านยุทธศาสตร์ และแผนงานสุขภาพจิต เพื่อวางแนวทางการพัฒนากรมสุขภาพจิต และการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นในสังคม สามารถใช้เป็นแนวทางในการปรับองค์กรให้มีความทันสมัยสอดรับ กับภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้น และระดับสังคม โดยสามารถนำไปใช้สร้างความรอบรู้ให้กับสังคมในวงกว้าง นำไปใช้ในหลักสูตรสุขภาพจิต สำหรับการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง ให้เข้าใจ ตระหนัก และสามารถเชื่อมโยงงานกับกรมสุขภาพจิตได้ในอนาคต”

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม หรือ IFI ส่งเสริมและสนับสนุน การนำการมองอนาคตมาใช้ในการติดตามแนวโน้ม ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต ซึ่งแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ของคนในสังคมไทย มีรายงานว่าประชาชนไทยต้องเผชิญ กับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น อย่างต่อเนื่องทุกปี แต่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตยังไม่ครอบคลุมมากนัก อีกทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างสมบูรณ์ของสังคมไทย พบว่าปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ และปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากช่องว่าง ระหว่างวัยกลับยังไม่สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้ ทั้งนี้การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นสื่อสันทนาการ หรือเข้ามามีส่วนช่วยในระบบบริการ ทางด้านสุขภาพจิตนั้น สามารถช่วยยกระดับสุขภาวะของคนไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพไทย ที่นำเสนอบริการนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ ทางด้านสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบ”

“เช่น การจัดทำหลักสูตรสอนการฟังเชิงลึก (deep listening) ที่ผ่านการรับรองจากกรมสุขภาพจิตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ในลักษณะ Software-as-a-Service (SaaS Platform) การทำแอปพลิเคชันที่นำเสนอกิจกรรมสร้างเสริม สุขภาพจิตรูปแบบต่างๆ ให้เป็นเรื่องสนุกและช่วยให้ผู้ใช้งานมีทักษะและพลังยืดหยุ่นด้านสุขภาพจิตมากขึ้น และแชทบอทที่ช่วยเก็บข้อมูล การทำกิจกรรมจากผู้ใช้งานไปวิเคราะห์ ความเสี่ยงของอาการซึมเศร้า เป็นต้น โดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ลดระยะเวลาในการคัดกรองผู้รับบริการเบื้องต้น นำไปสู่การรักษาและการดูแลได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลชุด “อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ.2576” ที่เป็นผลมาจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงานพันธมิตร จะเป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิต พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการนำนวัตกรรม มาช่วยออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ ต่อการดูแลสุขภาพจิตของคนไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง”

ด้าน ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า “ETDA โดยศูนย์คาดการณ์อนาคต Foresight Center by ETDA เราทำหน้าที่สเมือนถังความคิด (Think Tank) ในการติดตามสัญญาณ (Signal) และแนวโน้ม (Trend) ในอนาคตเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นำไปสู่การหาปัจจัยขับเคลื่อน (Driver) สู่การจัดทำเป็นภาพฉายอนาคต (Scenario) ต่อยอดการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งความร่วมมือในการศึกษา “อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576” ภายใต้ความร่วมมือของ ETDA พร้อมด้วย 3 หน่วยงานครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้มาร่วมศึกษาจัดทำข้อมูล สู่การคาดการณ์อนาคตของสุขภาพจิตของคนไทย ว่ามีมิติไหนที่ต้องจับตาหรือให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี ที่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการยกระดับสุขภาพ ของคนไทยแบบองค์รวมอย่างไร ให้มีความปลอดภัยน่าเชื่อถือ”

“เพราะจากการศึกษาครั้งนี้ เราพบว่าปัจจุบันเทคโนโลยี ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทย (Technology in daily life) ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณของเทคโนโลยีกับสุขภาพจิตใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ความพร้อมในการก้าวสู่สังคมดิจิทัล (Readiness for digital age) คนไทยส่วนใหญ่มีความพร้อม และใช้งาน Social Media เป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ในแง่ของการรู้เท่าทันกลับพบว่า มีไม่มากนัก โดยสะท้อนจากสถิติ ของการถูกหลอกทางออนไลน์ ข่าวปลอม และการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง มีตัวเลขเพิ่มสูงต่อเนื่องทุกปี เป็นต้น”

“จากข้อมูลข้างต้น นี่คือโจทย์สำคัญที่ประเทศ รวมถึง ETDA ที่จะเดินหน้าอย่างไร เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลไปพร้อมๆ กับการสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้าง Literacy สร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัลให้กับคนไทย และจะป้องกันผลกระทบของปัญหาสุขภาพที่เป็นผล มาจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งการศึกษาการคาดการณ์อนาคตสุขภาพจิตของคนไทย จะเป็นข้อมูลสำคัญ ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย หรือทิศทางการดูแลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต”

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันคนทั่วโลกเฉลี่ยมีโรค ทางด้านสุขภาพจิตถึง 36% สูงกว่าโรคมะเร็ง (34%) ยิ่งไปกว่านั้นยังให้ความสำคัญ กับปัญหาสุขภาพกาย พอกับสุขภาพใจเฉลี่ยถึง 76% (ข้อมูลจาก IPSOS) และล่าสุดทาง UN ได้ออกมาประกาศให้ 80% ของประเทศทั่วโลกนำการดูแลสุขภาพจิตเป็นการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานภายในปี พ.ศ. 2573 (ข้อมูลจาก WEF) เมื่อมองดูประเทศไทย 80.6% ของคนเมือง มีปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มสูงขึ้น และมากกว่าผู้อาศัยในเขตชนบทเกือบครึ่ง (48.9%) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการทำให้ คนที่อาศัยในเมืองมีสุขภาวะที่ดี เราจะต้องเข้าใจและดูแลสุขภาพจิตให้เตรียมพร้อม กับหลากหลายเหตุการณ์ด้วย เช่น โรคระบาด หรือ ภาวะเศรษฐกิจไม่มั่นคง เป็นต้น”

“โดยงานวิจัยจากความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความสำคัญ ของการคาดการณ์อนาคต ที่ทางนักวิจัยได้รวมรวมสัญญาณที่สำคัญ รวมไปถึงการวิเคราะห์ฉากทัศน์ อนาคตที่จะเกิดขึ้น ทำให้เข้าใจถึงสุขภาวะทางจิตใจของคนเมือง และสามารถนำข้อมูลไปใช้ เพื่อกำหนดแนวทาง หรือนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนไทย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไป”

Related Posts

Send this to a friend