HEALTH

กรมการแพทย์เตือน เส้นเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกับ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา ออกคำเตือน โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเสี่ยงต่ออาการชักหรืออ่อนแรง หากเส้นเลือดสมอง มีขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 เซนติเมตร กรณีที่โรคเส้นเลือดสมองโป่งพองยังไม่แตก หรือหากเส้นเลือดสมองโป่งพองแบบแตก เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง คือความผิดปกติที่เกิดจากการบางลง ของผนังหลอดเลือดสมอง ทำให้ผนังเส้นเลือดสมองโป่งพองออก คล้ายบอลลูนและอาจแตกออกได้ง่าย หากพบอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มักเป็นทันทีทันใด,คลื่นไส้อาเจียน,หมดสติ รีบพบแพทย์โดยทันที

นายแพทย์วีรวุฒิ เปิดเผยว่า “เส้นเลือดสมองโป่งพองเป็นภาวะ ของผนังหลอดเลือดอ่อนแรงลง จึงเกิดอาการโป่งพอง ซึ่งเกิดได้ทั้งหลอดเลือดแดง หรือหลอดเลือดดำ โดยส่วนมากที่พบมักจะเป็นหลอดเลือดแดง เส้นเลือดสมองโป่งพองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 1.เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบยังไม่แตก ทำให้อาการที่ไปกดทับเส้นประสาทข้างเคียง หรือมีขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 เซนติเมตร อาจทำให้เกิดอาการชักหรืออ่อนแรงได้ 2.เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบแตกแล้ว เมื่อมีการแตกเลือดที่ออกมาจะทำให้ความดันในกะโหลกสูงขึ้น ถ้าร่างกายหยุดเลือดไม่ได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที แต่ถ้าเลือดหยุดได้ ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ ด้วยเลือดออกในชั้นต่างๆของสมอง เช่น เลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นอะแร็คนอยด์ หรือเลือดออกในเนื้อสมอง เป็นต้น เส้นเลือดโป่งพองถึงจุดหนึ่ง ก็จะมีการแตก โดยทำให้เกิดภาวะที่สำคัญ คือ เลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมอง ชั้นอะแร็คนอยด์ ซึ่งภาวะนี้เป็นอันตราย ถึงพิการหรือนำไปสู่การเสียชีวิตได้”

นายแพทย์ธนินทร์ กล่าวว่า “สาเหตุของการเกิดโรค เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิด หรือโรคทางพันธุกรรมเส้นเลือดแข็งตัวและเสื่อม ภาวะการติดเชื้อ หรือมีการอักเสบในร่างกาย เนื้องอกบางชนิด และอุบัติเหตุ เป็นต้น อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มักเป็นทันทีทันใด คลื่นไส้อาเจียน หมดสติ หรือเสียชีวิต การถูกกดทับเส้นประสาท เช่น คอแข็ง หรือปวดร้าวบริเวณใบหน้า การอุดตันของหลอดเลือด และอาการชัก การวินิจฉัยโรคแพทย์ จะส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง”

“และการตรวจหลอดเลือดในสมอง เพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือด ได้แก่ 1.เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (CTA) 2.ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (MRA) 3.การเจาะหลังใช้เมื่อต้องการพิสูจน์ ภาวะเลือดออกมาช่องใต้เยื่อหุ้มสมองอะแร็คนอยด์ กรณีที่มองไม่เห็นในซีทีสแกน แพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วย โดยการผ่าตัดและรังสีร่วมรักษาโดยอุดหลอดเลือด ในบางกรณีต้องใช้การรักษาทั้ง 2 แบบร่วมกัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการโต หรือแตกของเส้นเลือดโป่งพอง โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง เป็นภัยเงียบที่ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือถ้ามีอาการผิดปกติ อย่ารอช้าควรรีบมาพบแพทย์โดยทันที”

Related Posts

Send this to a friend