กรมการแพทย์ เตือนผู้สูงอายุระวังหกล้ม แนะออกกำลังกาย

วันนี้ (22 ธ.ค. 65) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกับ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา ล่าสุดให้ความรู้ประชาชน เรื่อง การหกล้มในผู้สูงอายุ อันเนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย รวมถึงโรคเรื้อรังต่างๆในผู้สูงวัย ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรงและการทรงตัวได้ไม่ดีพอ ทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่าย บางรายอาจบาดเจ็บเล็กน้อย บางรายเกิดการบาดเจ็บรุนแรง สามารถป้องกันและแก้ไขได้ หากเข้าใจถึงความเสี่ยงและการดูแลที่เหมาะสม
นายแพทย์วีรวุฒิ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของระบบต่างๆในร่างกายจึงตามมา ส่งผลให้การควบคุมการทำงานต่างๆเปลี่ยนแปลงไป พบได้ในผู้สูงอายุคือ การเดินที่ไม่มั่นคง ซึ่งเกิดจากการทรงตัวที่บกพร่อง อาจทำให้เกิดการหกล้มได้ ซึ่งส่งผลกระทบตามมา หากเกิดการหกล้มรุนแรงทำให้กระดูกหัก บางรายเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจมีเลือดออกในสมองได้ ทำให้ผู้สูงอายุไม่ยอมเดินหรือกลัวการหกล้ม ทำให้จำกัดการทำกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมต่างๆ ซึ่งนำมาสู่ภาวะถดถอยของสมรรถภาพของร่างกาย”
ด้าน นายแพทย์ธนินทร์ กล่าวว่า “ปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้ม มี 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ เพศหญิง มีอายุที่เพิ่มขึ้น การมองเห็นบกพร่อง โรคประจำตัว เช่น โรคสมองและระบบประสาท โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาพแวดล้อมภายในบ้าน เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นต่างระดับ พื้นเปียกหรือลื่น การวางของระเกะระกะ เป็นต้น แนวทางการป้องกันโดยแพทย์ จะประเมินผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ประเมินจากสภาพแวดล้อมที่บ้าน และให้คำแนะนำการป้องกันการหกล้ม การออกกำลังกายในผู้สูงอายุได้แก่ การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายเพิ่มการทรงตัว เช่น การรำมวยจีน ไทเก็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตามการป้องกันการหกล้ม ในผู้สูงอายุทั้งที่ปกติและมีโรคประจำตัว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยหลีกเลี่ยงและลดปัจจัยเสี่ยง จะช่วยป้องกันภาวะทุพพลภาพในผู้สูงอายุได้ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เปิดให้บริการ “คลินิกสูงอายุคุณภาพ” โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กายภาพบำบัด และทีมสหวิชาชีพเชี่ยวชาญ ในวันพุธที่ 2 และ 4 ของเดือน