‘ไข้หวัดใหญ่’ ระบาดหนัก แนะผู้สูงอายุ ‘ฉีดวัคซีน’ ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยว่า ในปีนี้ พอเข้าสู่ฤดูฝน จะเริ่มเห็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก ทำให้ผู้คนเก็บตัวในบ้าน โอกาสแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่จึงน้อยลง รวมถึงช่วงนั้น ประชาชนห่างหายจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังหมุนเวียนอยู่อย่างเบาบาง พอสถานการณ์โควิด-19 กลับสู่สภาวะปกติ จึงพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากขึ้น โดยอัตราคนที่เป็นไข้หวัดแล้วมาโรงพยาบาล พบว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 15% (ณ ต้นเดือนสิงหาคม 2566)
ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตลอดทั้งปี โดยช่วงที่มีการระบาดหนักจะอยู่ในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน–ตุลาคม และจะระบาดอีกครั้งในช่วงอากาศเย็น เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จากสถิติช่วงระบาดหนัก พบผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดจะเป็นไข้หวัดใหญ่ 20-30% หรือบางปีตรวจพบสูงถึง 40% ของผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดแล้วมาโรงพยาบาล
โรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่มักจะก่อโรคในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเด็ก 100 คนในปีหนึ่ง จะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 20-25% แต่ถ้าผู้ใหญ่ จะพบเป็นไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 10% ซึ่งปัจจัยที่สำคัญของการระบาดนอกจากฤดูฝนแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องโรงเรียนเปิดเกียวข้อง เด็กนักเรียนจะส่งเชื้อให้กัน ทำให้เด็กอาจพาเชื้อสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งหากติดเชื้อแล้ว มีโอกาสที่โรคจะรุนแรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว จากสถิติระบุว่า ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรงที่นอน ICU พบจำนวนที่เสียชีวิต อยู่ที่ 10%
ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่เป็นตัวนำร่อง เป็นเชื้อโรคที่ก่อโรคทางเดินหายใจ ตัวมันเองก่อโรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้บ้าง แต่ตัวที่มาซ้ำเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เกาะในลำคอ จะทำให้โรครุนแรงมากขึ้น เกิดภาวะปอดอักเสบ ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรืออาจจะกระจายเข้าสู่เลือดเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดเป็นลิ่มเลือดเล็ก ๆ ทำให้โรคหัวใจรุนแรงขึ้น หรือหากไปอุดตันตามเส้นเลือดของสมอง ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือเป็นอัมพาตได้
สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีลักษณะเข้าข่าย ‘กลุ่มเสี่ยงตาย’ เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูง หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว โรคแทรกซ้อนอาจจะตามมาและเกิดความรุนแรงสูง การป้องกันตามธรรมชาติอาจจะป้องกันได้บ้างแต่ยาก เนื่องจากสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนจะแสดงอาการ ฉะนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ‘วัคซีน’ ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสามารถจัดการกับโรคได้ตลอดเวลา ปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์แล้ว ขณะที่ประเทศไทยจะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ประเภท ได้แก่
1.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน (Standard Dose) ซึ่งจะมีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ (ขนาด 15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)
2.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (High Dose) สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สามารถฉีดได้ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีร่างกายปกติ และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีเฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์เท่านั้น (ขนาด 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)
การมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีร่างกายอ่อนแอ ตอบสนองภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนต่ำ ผู้สูงอายุบางรายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ไม่เหมือนกับช่วงอายุอื่น ๆ จึงพัฒนาเพิ่มขนาดของตัวยาในแต่ละสายพันธุ์ เป็น 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มีอาการได้สูงกว่าชนิดที่เป็นมาตรฐาน (15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์) ร้อยละ 24 และยังสามารถลดการนอนโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 64.4 ลดการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 48.9