HEALTH

แพทย์-วิศวฯ จุฬาฯ พัฒนา DMIND คัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า บนหมอพร้อม

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโรคซึมเศร้าจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในระดับที่น่ากังวล โดยในปี 2564 มีคนไทยอย่างน้อย 1.5 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจำนวน 100 คน เข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้นและมีสถิติผู้พยายามฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6 คนต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คาดการณ์กันว่าในอีก 18 ปีข้างหน้าจะส่งผลกระทบกลายเป็นภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้อันดับ 1 ของทั่วโลก 

รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “ตามรูปการณ์ในปัจจุบัน การที่โรงพยาบาลจะขยาย OPD หรือแผนกเพื่อรองรับผู้ป่วยก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน การเพิ่มสถานพยาบาลยังไงก็ไม่มีทางเพียงพอ ในบางจังหวัดมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการวันละ 200 – 300 คน มันเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนสายด่วนสุขภาพจิต ของกรมสุขภาพจิต ที่ให้บริการในการพูดคุยให้คำปรึกษา โดยมีนักจิตวิทยาช่วยประเมินว่าสายที่โทรเข้ามามีอาการของโรคซึมเศร้ามากแค่ไหน ก็มีคนที่ต้องรอสายต่อวันเป็นพันๆ คน แต่มีคนที่รับสายโทรศัพท์ต่อวันไม่เพียงพอ ทำให้ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงบริการอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจมีคนที่สุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแล้วไม่สามารถเข้าถึงบริการ”

รศ.พญ.โสฬพัทธ์ กล่าวว่า คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะแสดงลักษณะอาการของโรคออกมาผ่านทั้งน้ำเสียง คำพูด และการแสดงออกทางสีหน้า ซึ่งหากมีเครื่องมือที่สามารถนำมาวิเคราะห์เบื้องต้นก็จะช่วยได้มาก และเป็นที่มาของการพัฒนา DMIND แอปพลิเคชั่นสำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท Agnos Health ซึ่ง D ย่อมาจาก Depression หรือโรคซึมเศร้า

โดย DMIND เป็นเครื่องมือที่นำมาช่วยจิตแพทย์ โดยไม่ได้มาทำหน้าที่แทนจิตแพทย์ แต่นำมาช่วยคัดกรองว่าใครคือเคสเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และคนที่มีอาการโรคซึมเศร้าที่เบากว่าที่ควรได้รับการช่วยเหลือในลำดับต่อไป

รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เผยว่า  “เราทำงานกันหนักมาก มีการเก็บตัวอย่างหลายหมื่นตัวอย่างมาวิเคราะห์ จนเกิดเป็น AI ที่เป็น Machine Learning ที่เป็น Template ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยนำมาทดสอบกับคนไข้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนเรามั่นใจในตัวเลขของข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์มีความแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ และจะแม่นยำขึ้นได้อีกด้วยเทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์”

ทางแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมก็มีจำนวนผู้ใช้งานที่มีความเครียดเพิ่มขึ้นสูงมาก เดิมทีในหมอพร้อมจะใช้วิธีกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยการให้ทำแบบสอบถาม แต่พอมาใช้เป็น AI วิเคราะห์ก็จะเพิ่มความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ด้วยความสามารถในระดับ Direct Bio Tracker ที่สามารถวิเคราะห์การแสดงอารมณ์ของผู้ป่วยผ่านสีหน้าท่าทางที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับชีวภาพของร่างกายจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่ความคิดเห็น เป็นสิ่งที่บางทีคนไข้ยังไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองแสดงออกมา

ทั้งนี้ AI จะประเมินลักษณะภาวะซึมเศร้าออกมาเป็นคะแนน หากคะแนนอยู่ในเกณฑ์สีเขียว คือยังอยู่ในภาวะปกติ สีเหลืองมีภาวะซึมเศร้า นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับเพื่อให้คำปรึกษาภายใน 7 วัน และสีแดง หมายถึงภาวะซึมเศร้ารุนแรง นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับภายใน 1-24 ชั่วโมง เกณฑ์เหล่านี้เป็นการจัดแบ่งตามการดูแลที่มีอยู่แล้วของกรมสุขภาพจิต โดย รศ.พญ.โสฬพัทธ์ ให้เหตุผลว่า หลักการทำงานร่วมกันจะต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่มากนัก แต่นำสิ่งที่แต่ละฝ่ายมีมาทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุด

“สิ่งที่มีความสุขมากในวันนี้คือ โดยส่วนตัวหมอก็รู้แค่ในส่วนของตัวเอง นั่นคือศาสตร์ทางด้านจิตเวช แต่นาทีนี้ที่สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือกับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สิ่งที่เราอยากได้และต่างประเทศทำได้ เราก็ร่วมกันฝ่าฟันจนสำเร็จออกมา ทำให้เห็น ว่าในจุฬาฯ เรานั้นมีคนเก่งอยู่มากมาย หากว่าเราคุยกันมากขึ้น ทำงานร่วมกันมากขึ้น เราจะสามารถทำในสิ่งที่เป็นนวัตกรรมระดับโลกได้” รศ.พญ.โสฬพัทธ์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ถูกนำมาใช้งานในแอปพลิเคชั่นดังกล่าว เปิดเผยว่า การทำงานของระบบ DMIND ว่าประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือตัวแอปพลิเคชั่นในหมอพร้อม หรือ Automate Avatar ที่เป็น Mobile Application ที่คนไข้เข้ามาใช้งาน เมื่อมีการพูดคุยกับคนไข้ผ่านแอปก็จะได้ข้อมูลออกมาเป็นไฟล์วิดิโอ ซึ่งจะถูกส่งต่อไปให้ AI วิเคราะห์ในส่วนที่สอง และส่วนสุดท้ายคือ Web Base ที่แพทย์สามารถเข้ามาตรวจสอบย้อนหลังได้ หากมีผู้ใช้งานคนไหนที่ ดูแล้วมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงก็จะมีแพทย์หรือนักจิตวิทยาจากสายด่วนกรมสุขภาพจิตเข้าไปติดตามให้การดูแล

ประชาชนทั่วไปสามารถใช้งานได้ง่ายๆ เพียงใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเข้าไปในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม เลือกส่วนใช้งาน “คุยกับหมอพร้อม (Chatbot)” เลือก “ตรวจสุขภาพใจ” เลือก “ตรวจสุขภาพใจกับคุณหมอพอดี” จากนั้นก็จะเป็นส่วนของการตอบแบบสอบถาม ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยคัดกรองและประเมินตัวเอง (ในกรณีที่ผู้ใช้งานไม่สะดวกใจที่จะใช้งานแบบต้องอัดเสียง เปิดกล้อง หรืออัดวิดีโอ) หากต้องการการประเมินเชิงลึก ผู้ใช้งานก็จะต้องอนุญาตให้มีการเปิดกล้องบันทึกเสียงและภาพเพื่อการประเมินและพูดคุยกับหมอพอดี (อวตาร์) โดยข้อมูลภาพและเสียงจะถูกเก็บเป็นความลับ อาจารย์พีรพลให้เหตุผลว่าที่ยังต้องมีการคัดกรองโดยการตอบแบบสอบถาม เนื่องจากผู้ป่วยเป็นซึมเศร้าหลายราย อาจจะยังไม่พร้อมที่จะไปพบแพทย์หรือเปิดเผยว่าตัวเองป่วย อาจจะต้องการประเมินด้วยตัวเองผ่านการตอบแบบสอบถามก่อน

ด้านความแม่นยำในการตรวจจับ (Accuracy) การวิเคราะห์สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และเนื้อหา ของ DMIND รศ.ดร.พีรพล กล่าวว่า จากที่ได้ทดลองนำไปใช้ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 75% ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับปริมาณคนไข้นับหมื่นรายที่ได้รับการคัดกรองโดย DMIND ช่วยลดภาระงานของแพทย์ไปได้ค่อนข้างมาก

“ในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เราก็มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ของจุฬาฯ ที่คอยตรวจสอบตรงนี้อยู่ ดังนั้น ข้อแรกเราไม่มีการเก็บข้อมูลที่ระบุไปถึงตัวตนของผู้ใช้งานได้ ข้อสองข้อมูลที่ได้เมื่อผ่านระยะเวลาไปช่วงหนึ่งจะถูกทำลายทิ้ง จึงไม่มีทางที่จะติดตามกลับไปถึงตัวคนได้ว่าเป็นใคร ไม่มีการเก็บข้อมูลดิบเอาไว้”

รศ.ดร.พีรพล กล่าวย้ำว่า ในอนาคต ตนอยากให้แอปพลิคชั่นนี้สามารถเข้าถึงคนทุกคนได้จริงๆ ทั้งนี้โครงการก็ยังมองหาหน่วยงาน โรงพยาบาล บริษัททางด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามาร่วมพัฒนา หรือหากแพลตฟอร์มที่อยากจะนำ AI ตัวนี้ไปต่อยอดใช้งานต่อก็ยินดีเปิดรับ เพราะปัญหาโรคซึมเศร้าถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ระดับชาติ หากสามารถนำเอานวัตกรรมนี้ไปสู่โรงพยาบาลต่างๆ หรือเข้าถึงคนได้มากขึ้น ตนเชื่อว่า ก็จะยิ่งเกิด impact มากขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้ “การสอน AI ก็เหมือนกับการสอนเด็กหรือคนๆ หนึ่งขึ้นมา ดังนั้นมันยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงพัฒนาได้อีก เราก็คาดหวังว่าจะมีคนใช้มากขึ้น เพื่อให้ AI มีข้อมูลมากขึ้นเพื่อให้เกิดความแม่นยำยิ่งๆ ขึ้นไป” รศ.ดร.พีรพล กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend