HEALTH

กรมการแพทย์ เตือน โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป

วันนี้ (20 ธ.ค. 65) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ล่าลุดออกมาเตือนเกี่ยวกับ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตัวร้ายที่ผู้ชายทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเพศชายที่อายุมากกว่า 50 ปี และปัจจุบันมะเร็งต่อมลูกหมาก ถือเป็นโรคมะเร็งที่พบติดอันดับที่ 4 ในเพศชาย และในแต่ละวันพบอุบัติการณ์ การเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 10 คน ดังนั้นหากมีภาวะที่ผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะมะเร็งต่อมลูกหมาก หากตรวจพบได้เร็ว มีโอกาสรักษาหาย และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

นายแพทย์วีรวุฒิ กล่าวว่า “ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะของผู้ชาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นหูรูดควบคุมการปัสสาวะ และสร้างน้ำเลี้ยงตัวอสุจิ บางคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอัณฑะได้ มะเร็งต่อมลูกหมาก คือเซลล์เนื้องอกผิดปกติที่เกิดในต่อมลูกหมาก พบในคนที่สูงอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งพบได้มากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย เนื่องจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งคนมีอายุยืนมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ อายุและพันธุกรรม สำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand Vol.X (2016-2018) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) รายงานผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่วันละ 10 ราย หรือ 3,755 รายต่อปี เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก วันละ 5 ราย หรือ 1,654 รายต่อปี”

นายแพทย์ ศุภวัฒน์ ศิริคุปต์ นายแพทย์ชำนาญการด้านศัลยกรรม มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า “อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยมักมาด้วยก้อนเนื้อมะเร็งกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง ต้องเบ่ง ปัสสาวะมีเลือดปน ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง แต่ในระยะแรกๆนั้น ไม่มีอาการแสดงใดๆ อาจต้องทำการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostatic specific antigen ; PSA) อย่างน้อยปีละครั้งในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี สำหรับความรุนแรงของตัวโรคนั้น อาจมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง กดเบียดอวัยวะข้างเคียง กดเบียดท่อปัสสาวะทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดสดๆปัสสาวะไม่ออก มีการลุกลามไปกระดูก ปวดกระดูกรุนแรง มีการหักของกระดูกสันหลัง เกิดเส้นประสาทกดทับจนเดินไม่ได้ และมีการลุกลามไปอวัยวะภายในอื่นๆได้”

สำหรับการตรวจวินิจฉัย ต้องมีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ ต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (TRUS Biopsy) การตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจการลุกลามกระดูกด้วยสารนิวเคลียร์ เพื่อใช้วางแผนในการรักษา สำหรับแนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก หากตรวจให้พบในระยะแรกนั้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมาก และต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออก ปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก สามารถผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก (Laparoscopic surgery) หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted surgery) ซึ่งผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวมากขึ้น และเสียเลือดน้อยลง ในบางครั้งหากผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการผ่าตัด หรือไม่อยากผ่าตัด อาจเลือกใช้วิธีการฉายแสง (Radiotherapy) ซึ่งในระยะต้นๆอาจทำให้หายขาดได้เช่นกัน

ส่วนรายที่ลุกลามไปกระดูกแล้ว ก็ยังช่วยลดความเจ็บปวดได้อีกด้วย การรักษาด้วยการลดฮอร์โมนเพศชาย เนื่องจากมะเร็งมีการกระตุ้นและโตขึ้น จากฮอร์โมน Testosterone การฉีดยาลดฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอาอัณฑะออก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ การรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นการให้ยาทางเส้นเลือด เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง มักใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนอง ต่อการรักษาที่กล่าวข้างต้นแล้ว หรือมีการกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ ผลข้างเคียงในการรักษาจะมากกว่าวิธีอื่นๆ

สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็พอจะมีอยู่บ้าง เช่น จากการศึกษาสารที่พบในมะเขือเทศ โดยเฉพาะสารที่เรียกว่า Lycopene ถ้ารับประทานอย่างน้อย 10-30 มิลลิกรัม/วัน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ในผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะมีความแตกต่างกันได้ขึ้นกับหลายปัจจัย ผู้ป่วยควรปรึกษาและสอบถามกับแพทย์ เพื่อร่วมกันพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง

Related Posts

Send this to a friend