HEALTH

ร่วมเชิดชู ศ.(พิเศษ) ดร.ภญ.กฤษณา ไกรสินธุ์ รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ปี 66

วันนี้ (20 มิ.ย. 66) มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เชิดชู “ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2566 ซึ่งท่านเป็นผู้อุทิศตนในการพัฒนา และผลิตยาต้านไวรัสเอดส์และยาต้านมาลาเรีย รวมถึงยาสมุนไพรอันเป็นคุณูปการ ในการแก้ปัญหาสาธารณสุข ที่สำคัญของประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลก ผลงานที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและมวลมนุษยชาติ ในการรักษาและการควบคุมโรค

โดยจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล จาก คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ รองประธานบริหารอาวุโส สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 31 ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ภายใต้หัวข้อ “Smart Medical Sciences : Health for Wealth วิทยาศาสตร์การแพทย์ชาญฉลาด เพื่อสุขภาพที่ดีและเศรษฐกิจมั่งคั่ง”

นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า “มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีนโยบายเชิดชูเกียรติบุคคลในวงการ วิทยาศาสตร์การแพทย์ผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติ จึงได้จัดตั้งรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศขึ้น ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคล เพื่อรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศเป็นผู้ดำเนินงาน ภายใต้การรับรองของคณะกรรมการ มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการดำเนินงานได้ประชาสัมพันธ์ การสรรหานักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ตามหน่วยงานต่างๆในวงกว้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เสนอชื่อบุคคลและผลงาน ของผู้ที่สมควรได้รับรางวัลดังกล่าว

“ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ ท่านเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม เพื่อวิจัยและผลิตยาทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาสมุนไพรให้คนไทย ได้ใช้ทั้งประเทศกว่าหนึ่งร้อยชนิด ทำให้มียาคุณภาพดีทัดเทียม กับต่างประเทศออกสู่ตลาดมากขึ้นและมีราคาถูกลง โดยผลงานอันโดดเด่น คือ การพัฒนาสูตรตำรับและศึกษาเภสัชชีวสมบูรณ์ของยาต้านเอดส์ชนิดต่างๆ ได้แก่ ยาสามัญเอแซดที (AZT) ป้องกันการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก”

“ยาสูตรผสมรวมเม็ดต้านเอดส์ หรือจีพีโอเวียร์ (GPO-VIR) และยาต้านเอดส์ชนิดอื่นอีก 5 ชนิด ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ที่สามารถผลิตยาต้านเอดส์ที่มีคุณภาพดี ราคาถูกกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศ 5 ถึง 20 เท่า สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย จำนวน 150,000 คน และยาจีพีโอเวียร์ถูกบรรจุในโปรแกรม การให้ยาต้านเอดส์แห่งชาติฟรี รวมทั้งร่วมก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านโรคเอดส์ และยารักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในทวีปแอฟริกา พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ ฝึกสอนบุคลากร ของโรงงานผลิตยา โรงพยาบาล และสถาบันวิจัยและควบคุมคุณภาพยาแห่งชาติ ในทวีปแอฟริกา จำนวน 17 ประเทศ ให้สามารถผลิตยาต้านเอดส์และยารักษาโรคมาลาเรีย ช่วยชีวิตผู้ป่วยชาวแอฟริกาได้หลายล้านคน”

“นอกจากนี้ท่านและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านสมุนไพรของไทย ผลิตยาสมุนไพรไทยจำนวน 4 ตำรับ เพื่อใช้รักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพ ของคนไทยในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยได้ก่อตั้งหน่วยฝึกอบรม เพื่อฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยยาเสพติดด้วยสมุนไพร และพัฒนาทักษะการปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ สำหรับผู้ป่วยยาเสพติด ภายใต้ชื่อ “สวนสราญรมย์โมเดล” เพื่อคืนคนดีสู่สังคม และได้ดำเนินงานภายใต้โมเดลอื่นๆอีก ได้แก่ ลังกาสุกะโมเดล ภูกามยาวโมเดล จัมปาศรีโมเดล ช้างเผือกโมเดล และสามหมื่นโมเดล เป็นต้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประโยชน์ของสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยที่ประชาชนในพื้นที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างรู้คุณค่า เพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม อีกทั้งยังได้ก่อตั้งหน่วยฝึกอบรม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทย ที่ศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ และชาวแอฟริกาเดินทางมาเรียนรู้ และฝึกงานการผลิตยาสมุนไพรในขั้นอุตสาหกรรม”

ด้าน นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า “ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ ท่านเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในสาขาเภสัชศาสตร์อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยด้านสมุนไพร รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ และเพื่อนร่วมอาชีพในวงการเภสัชกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวางในประชาคมระหว่างประเทศ ผลงานทั้งหลายจึงเป็นที่ประจักษ์และยอมรับทั้งผลงานด้านวิชาชีพ ด้านวิชาการ ด้านบทความ งานวิจัย งานด้านมนุษยธรรม และมีบทความทางวิชาการกว่า 100 เรื่อง”

“ซึ่งผลงานเหล่านี้ทำให้บุคคลที่เจ็บป่วย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถหายจากความทุกข์ทรมานและโรคร้าย กลับมามีชีวิตที่เป็นสุข พึ่งตนเองและมีส่วนร่วม ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ นอกจากนี้ท่านยังได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ทั้งในและต่างประเทศ โดยรางวัลสูงสุดที่ได้รับคือรางวัลรามอน แม็กไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2552 ที่ได้นำความรู้ความสามารถทางด้านเภสัชกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย และในประเทศอื่นทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพายปฐมดิเรกคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระราชทาน แก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน”

Related Posts

Send this to a friend