HEALTH

กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์ไวรัสมาร์บวร์ก เน้นตรวจคัดกรองผู้โดยสารจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด

วันนี้ (20 ก.พ.66) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ล่าสุดประกาศติดตามสถานการณ์การระบาด ของโรคไวรัสมาร์บวร์กในแอฟริกา อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่งไวรัสมาร์บวร์กเป็นสาเหตุการติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการไข้และเลือดออก โดยมีค้างคาวผลไม้เป็นสัตว์นำโรค พร้อมกันนี้ได้กำชับด่านควบคุม โรคติดต่อระหว่างประเทศ เฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางทุกคน ที่มาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง จากการโรคไวรัสมาร์บวร์ก ในกลุ่มผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ที่มีแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว และผู้ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง

นายแพทย์ธเรศ เปิดเผยข้อมูลว่า “ไวรัสมาร์บวร์ก ที่หลายประเทศกำลังเฝ้าระวังนั้น เนื่องจาก “โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก” (Marburg virus disease; MVD) อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา (Ebola) ซึ่งการติดเชื้อทำให้เกิดอาการไข้และเลือดออก โดยมีค้างคาวผลไม้เป็นสัตว์รังโรค ถูกตั้งชื่อตามเมืองมาร์บวร์ก ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรก การติดเชื้อในคนเริ่มแรก เป็นผลมาจากการสัมผัสในเหมืองหรือถ้ำ ที่มีค้างคาวผลไม้อยู่อาศัยเป็นกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เมื่อเชื้อถูกแพร่ไปยังคนแล้ว คนนั้นจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกาย ของผู้ติดเชื้อได้เหมือนกับโรคอีโบลา”

“สำหรับไวรัสมาร์บวร์ก ถูกพบในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) จากการระบาดครั้งแรกในเมืองมาร์บวร์ก และแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี รวมทั้งเมืองเบลเกรดในประเทศเซอร์เบีย ซึ่งขณะนั้นเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการ ที่ใช้ลิงเขียวแอฟริกาที่นำมาจากประเทศยูกันดา หลังจากนั้นพบผู้ป่วยโรคไวรัสมาร์บวร์กเพิ่มประปราย ประเทศที่เคยพบการระบาดของโรค ได้แก่ ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น แองโกลา เคนยา ยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สำหรับในทวีปยุโรป พบผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียว ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และอีกหนึ่งรายในสหรัฐอเมริกา หลังจากกลับจากการสำรวจถ้ำในประเทศยูกันดา”

“จากข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 องค์การอนามัยโลกรายงาน พบการระบาดของโรคนี้ที่รัฐบาลสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี ประเทศในภูมิภาคตอนกลางของทวีปแอฟริกา ซึ่งได้มีการประกาศให้เป็นโรคระบาดร้ายแรง โดยพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ 25 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยมีอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือด และท้องเสีย ได้มีการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงประมาณ 200 ราย นอกจากนี้ยังมีรายงานพบผู้ป่วยสงสัย 2 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 42 ราย ที่ชุมชนโอลัมเซ (Olamze) บริเวณชายแดนประเทศแคเมอรูน พื้นที่ติดกับอิเควทอเรียลกินี เป็นชาย 1 ราย และหญิง 1 ราย อายุ 16 ปี ซึ่งไม่มีประวัติการเดินทาง ไปยังประเทศสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี สำหรับประเทศไทยกำหนดให้ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง แม้ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยมาก่อน”

“สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน หลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อหรือสัตว์นำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีผื่นแต่ไม่คัน ต่อมาจะมีเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระดำหรือเป็นเลือด เลือดออกตามจมูก ปาก และช่องคลอด บางรายมีภาวะตับหรืออวัยวะอื่นๆ ล้มเหลว หรือเกิดภาวะช็อกได้ ผู้ป่วยหลายรายมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรงภายใน 7 วัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในช่วง 8-9 วันหลังจากมีอาการวันแรก โดยมีรายงานอัตราป่วยตาย สูงถึงร้อยละ 24-90 ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาจำเพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการร่วมกับให้สารน้ำหรือเลือดทดแทน”

ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทาง แต่เน้นมาตรการคัดกรองผู้เดินทางทุกคน ที่มาจากประเทศอิเควทอเรียลกินี และประเทศแคเมอรูน ที่มีรายงานพบผู้ป่วย พร้อมเพิ่มระดับการเตรียมความพร้อมระบบการเฝ้าระวังและคัดกรอง ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทุกแห่ง ตลอดจนแจ้งสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยสงสัยให้เก็บตัวอย่าง ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ และรายงานผู้ป่วยที่สงสัยภายใน 3 ชั่วโมง และหากประชาชนพบผู้ที่สงสัยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมาตรการสาธารณสุข ใช้แนวทางปฏิบัติเดียวกันกับโรคอีโบลา”

“กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ดังนี้ 1.ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกากลาง หรือประเทศที่กำลังมีการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์นำโรค ควรล้างมือด้วยสบู่หลังสัมผัสสัตว์ เนื้อสัตว์ หรือซากสัตว์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง กับผู้มีอาการป่วย สารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือผู้สงสัยติดเชื้อโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน 2.สถานพยาบาล ควรมีการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ในผู้ป่วยในผู้มีประวัติการเดินทาง มาจากประเทศที่พบการระบาด และพิจารณาส่งตรวจหาเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีประวัติเสี่ยง 3.หากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค มีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”

Related Posts

Send this to a friend