HEALTH

เผย คนเมืองกรุงมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง เสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

วันนี้ (14 ต.ค. 66) นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ศึกษารูปแบบและความสัมพันธ์ของการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง (การนั่งนาน) ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,137 คน พบว่าคนกรุงเทพมหานครมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 83 แต่ยังมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ร้อยละ 79 สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ถ้าชีวิตประจำวันไม่ขยับหรือนั่งนาน ก็ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ การมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพื่อสุขภาพที่ดี คือ กิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งต่ำ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คนกรุงเทพมหานคร มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น ที่มีพฤติกรรมอันพึงประสงค์

นายแพทย์มณเฑียร กล่าวว่า สาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากความเร่งรีบในวิถีชีวิต การนั่งทำงานประจำ และการใช้อุปกรณ์จอทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ แทบเล็บ ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอและการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงเป็นประจำจะส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชน อาทิ การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น รวมทั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำสำหรับการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ คือ การขยับร่างกายระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ นั่งให้น้อยที่สุดในแต่ละวันเท่าที่สามารถทำได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า กรมอนามัยส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชาชนทุกกลุ่มวัยในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมจัดทำแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561–2573 ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเขตเมือง กรมอนามัยแนะนำให้จัดกิจกรรมเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งทั้งในเวลาทำงานและเวลาว่าง หยุดหรือลดการใช้จอเป็นระยะ ๆ เช่น การใช้โปรแกรมเตือนเมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขยับร่างกายและมีกิจกรรมทางกายด้วยการออกแบบเมืองให้ประชาชนเข้าถึงรถโดยสารสาธารณะ หรือสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านค้า หรือสวนสาธารณะ ได้สะดวกมากขึ้นผ่านการเดิน เพื่อให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน กรมอนามัยยังคงยึดหลักการจากองค์การอนามัยโลก คือ ทุกการขยับนับหมด ส่งเสริมให้ประชาชนมีร่างกายที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี

Related Posts

Send this to a friend