HEALTH

แพ้อาหารกลิ่นฉุน มีจริงไหม อันตรายหรือไม่ และต้องรับมืออย่างไร

หลายคนที่ชอบเมนูที่มีกลิ่นฉุน (และอร่อย) เช่น ทุเรียน ปลาร้า สะตอ ขนุน ฯลฯ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หลายคนกลับทนไม่ได้ แค่อยู่ใกล้ก็ไม่ไหวแล้ว และพาลเป็นกังวลว่าจะทำให้เกิด “อาการแพ้” หรือทนไม่ไหว ถึงขั้นเป็นลมหมดสติ หรือมีผื่นคันแดงตามตัวได้หรือไม่ เช่น กรณี กระเป๋ารถโดยสารสาธารณะ มีอาการแน่นหน้าอกและเป็นลมหมดสติ กระทั่งถูกนำตัวส่ง รพ. เนื่องจากได้กลิ่นทุเรียน

นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์อายุรกรรมสมอง แผนกประกันสังคม รพ.กล้วยน้ำไท 1 ได้ให้ข้อมูลกับ The Reporters เกี่ยวกับอันตรายและการรับมือ กับอาหารกลิ่นแรงดังกล่าวไว้น่าสนใจ

 “การแพ้อาหารกลิ่นแรงและกลิ่นฉุน ส่วนมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่เยื่อบุจมูก และจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น จะทำให้ไอจามหรือแสบจมูก เป็นต้น ส่วนในรายที่มีอาการแพ้อาการกลิ่นแรงและกลิ่นฉุน ชนิดแบบขั้นรุนแรงนั้น จะทำให้ผู้ป่วยชีพจรเต้นเร็ว และทำให้หลอดลมบวม กระทั่งหายใจไม่ออก และนำมาซึ่งการช็อคหมดสติ และบางรายอาจเสียชีวิตได้ แต่ในกลุ่มนี้อาจพบได้ค่อนข้างน้อย” นพ.สุวินัย กล่าว

 นพ.สุวินัย บอกอีกว่า การดมหรือการสูดกลิ่นนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดอาการหมดสติได้ พูดง่ายๆว่าทำให้เป็นลมหมดสติได้น้อยกว่า “การสัมผัส” หรือ “การรับประทาน” ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะส่งผลต่อผู้ป่วยเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก และเป็นลมหมดสติได้มากกว่า ยกเว้นว่าการได้ดมกลิ่นก๊าซพิษ ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดการระคายเคือง ที่บริเวณทางเดินหายใจ กระทั่งทำให้ปอดเสียหาย และจะนำมาซึ่งการหมดสติและเสียชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการดมกลิ่นเหม็น หรืออาหารกลิ่นฉุนทั่วไป ทั้งนี้ผู้ที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และได้กลิ่นอาหารที่กลิ่นแรงเช่น ทุเรียน สะตอ หรือ ขนุน ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเหม็นเวียนศีรษะ กระทำให้รู้สึกว่าทนไม่ไหว หรือมีผื่นคันตามร่างกาย ซึ่งตรงนี้อันที่จริงแล้วเป็นความรู้สึกร่วม เพราะการที่เราจะมีอาการแพ้กลิ่นเหม็นรุนแรง จะต้องมีการรับประทานหรือสัมผัส มากกว่าการสูดกลิ่นหรือดม

“แนะนำว่าหากเราต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่มีกลิ่นเหม็นดังกล่าว หรือ เดินผ่านร้านอาหารที่ทำกับข้าวกลิ่นฉุน ก็แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดปิดจมูก และรีบเดินผ่านไปเร็วๆ ที่สำคัญไม่ควรกลั้นหายใจ เพราะเราจะกลั้นหายใจได้ไม่นาน สุดท้ายเราจะสูดอาหารกลิ่นเหม็นเหล่านี้เข้าไปมากกว่าเดิม ที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตว่าตัวเองแพ้อาหารอะไร และควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับข้อมูลในการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง และเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารกลิ่นเหม็น ที่เราชอบรับประทานไปรบกวนผู้อื่น และป้องกันการตุ้นความรู้สึกร่วม จากการได้กลิ่น ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรนำขึ้นรถสาธารณะ หรือ หากจะนำขึ้นก็ต้องแพ็คให้เรียบร้อยและปิดสนิท” นพ.สุวินัย กล่าว

แพทย์อายุรกรรมสมอง กล่าวเสริมว่า “จากกรณีของการวางแปรงสีฟัน ไว้ใกล้กับชักโครกในห้องน้ำ ที่หลายคนเป็นกังวลว่า ละอองของกลิ่นที่ปนเปื้อน ไปด้วยเชื้ออีโคไลจากอุจจาระ ที่มาจากการกดชักโครก จะกระเด็นติดอยู่ที่แปรงสีฟัน กระทั่งทำให้เกิดอาการท้องร่วงท้องเสีย อันที่จริงแล้วไม่เป็นความจริง เพราะกลิ่นที่ออกมาจากชักโครกเป็นเพียงแก๊ส ที่ได้จากการย่อยสลายอาหาร ที่ผสมกับกลิ่นเหม็นของอุจจาระ ซึ่งคล้ายกับการผายลม ซึ่งเมื่อเรากดชักโครกสักครู่ แก๊สดังกล่าวก็จะหายไป”

ดังนั้นเชื้อโรคจากกลิ่นอันเนื่องจากการกดชักโครก จึงไม่สามารถไปเกาะติดอยู่ที่แปรงสีฟันได้ ยกเว้นแปรงสีฟันของเราสกปรกอยู่ก่อนแล้ว โดยที่มีการหมักหมมของเชื้อโรคต่างๆ ขณะที่แปรงฟัน และล้างแปรงสีฟันไม่สะอาด หรือปล่อยให้แปรงสีฟันเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าหลังทำความสะอาดช่องปาก และเราล้างแปรงสีฟันให้สะอาด หรือเปลี่ยนแปรงสีฟันอย่างสม่ำเสมอทุกๆ -3-4 เดือน ก็ไม่มีปัญหาในการวางแปรงสีฟัน ในห้องน้ำแต่อย่างใด

Related Posts

Send this to a friend