HEALTH

WHO มอบรางวัลระดับโลก ให้ 2 บุคลากรสาธารณสุขไทย

องค์การอนามัยโลก มอบรางวัล Dr LEE Jong-wook ให้แก่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ จากการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และรางวัล Sasakawa Health Prize ให้แก่ นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข จักษุแพทย์จอประสาทตา รพ.ราชวิถี จากการคัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกสมัยที่ 150 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ประเทศไทยโดยกองการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมการแพทย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เสนอชื่อบุคลากรสาธารณสุขไทยเพื่อเข้ารับการพิจารณารางวัลระดับโลก 2 ท่าน คือ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health และ นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ในรางวัล Sasakawa Health Prize

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก ได้พิจารณาและประกาศรับรองให้ทั้ง 2 ท่านได้รับรางวัลดังกล่าว เนื่องจาก ศ.นพ.ประกิต วาธีสาธกกิจ เป็นผู้ที่มีคุณูปการโดดเด่นต่อวงการสาธารณสุข ได้ผันตัวมาทำงานภาคประชาสังคมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มีผลงานเชิงประจักษ์เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ

ขณะที่ นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข เป็นจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคจอประสาทตา ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาตาบอดในประเทศไทย โดยเฉพาะภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา ซึ่งเคยเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดลำดับที่ 2 ของประเทศ โดยพัฒนาวิธีการคัดกรองด้วยการใช้ภาพถ่ายจอประสาทตา และริเริ่มโครงการฝึกอบรมบุคลากรที่ไม่ใช่จักษุแพทย์ให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคจอประสาทตาได้ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนจักษุแพทย์ จนนำไปสู่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอประสาทตาทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังเพิ่มการเข้าถึงยารักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตา ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่ตาบอดอันเนื่องมาจากภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตาลดลงอย่างมาก

สำหรับพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ จะมีขึ้นระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 ในเดือนพฤษภาคม 2565 สำหรับรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 มอบให้กับบุคคล สถาบัน และองค์กรภาครัฐหรือเอกชนที่มีคุณูปการด้านสาธารณสุขอย่างโดดเด่น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการขยายขอบเขตการทำงานด้านสาธารณสุขให้สามารถดำเนินงานได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนรางวัล Sasakawa Health Prize ก่อตั้งขึ้นในปี 2527 ตามความคิดริเริ่มและด้วยทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอุตสาหกรรมการต่อเรือแห่งประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิ Sasakawa Memorial Health Foundation มอบให้กับบุคคล หรือสถาบัน หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำงานด้านนวัตกรรมที่โดดเด่นในการพัฒนาบริการปฐมภูมิ

Related Posts

Send this to a friend