HEALTH

Roche เผยสถิติการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น แนะปรับพฤติกรรม

โรช (Roche) จัดทำรายงาน Heart Failure Unseen: Unmasking the gaps and escalating crisis in Asia Pacific พบว่าในเวลาไม่ถึงสามทศวรรษระหว่างปี 2533-2562 การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นถึง 12% หรือเท่ากับ 5.2 ล้านคน เนื่องจากจำนวนของประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย รวมถึงแนวโน้มการเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการเกิดโรคที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ที่การรับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ เมื่อโรคหัวใจมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรมลง และมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น ดังนั้น การตรวจพบโรคและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้โรคหัวใจได้มีโอกาสทำลายสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่แพทย์ต้องเผชิญ คือการวินิจฉัยโดยพิจารณาจากอาการเป็นหลัก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวน 16.1% ได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาดจากโรงพยาบาล เนื่องจากอาการที่แสดงออกของภาวะหัวใจมีความคล้ายคลึงกับอาการป่วยที่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ดังนั้น การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย และการยกระดับการเฝ้าระวังโรคที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพต่าง ๆ เช่น NT-proBNP สามารถมอบภาพรวมที่เป็นประโยชน์กับงานวินิจฉัยและการบริหารจัดการผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ช่วยให้แพทย์สามารถเลือกรูปแบบการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ทั้งนี้ งานสำรวจยังพบว่า การเลิกสูบบุหรี่ การลดกินเค็ม การรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำ และการงดเว้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้นประเทศต่าง ๆ ควรส่งเสริมนโยบายด้านสุขภาพที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการตัดสินใจเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพในราคาที่เอื้อมถึงและหาได้ง่าย เพื่อจูงใจให้ผู้คนมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ

Related Posts

Send this to a friend