HEALTH

รพ.บำรุงราษฎร์ เปิด ‘ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร’

ผนึกความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดึงเทคโนโลยีทันสมัยช่วยวิเคราะห์โรคแบบตรงจุด

บำรุงราษฎร์ ล่าสุดเปิด ‘ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร’ ผนึกความร่วมมือกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาท และการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมวินิจฉัยและรักษาทุกปัญหาเกี่ยวกับโรค การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารอย่างแม่นยำตรงจุด เนื่องด้วยทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน ภาวะกลืนลำบาก ลำไส้แปรปรวน (IBS) อาการปวดท้องอาเจียน ที่อาจมีสาเหตุจากการเคลื่อนไหว ของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กผิดปกติ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หรือรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร มักจะมีอาการคล้ายคลึงกับหลายโรค ทำให้การวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ง่ายนัก จึงจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญการของแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเข้ามาช่วยตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และนำไปสู่การรักษาที่ถูกวิธี ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า “ด้วยระบบทางเดินอาหาร ถือเป็นอีกหนึ่งระบบของร่างกายที่มีความสำคัญมาก ซึ่งมีผลต่อการสร้างคุณภาพชีวิตและไม่ควรละเลยที่จะดูแล จากตัวเลขการรักษาที่บำรุงราษฎร์ พบว่ามีผู้ป่วยต่างชาติที่เป็นโรคกรดไหลย้อนถึง 50-60% ขณะที่ผู้ป่วยชาวไทยเป็นกรดไหลย้อน 10% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยเหตุผลดังกล่าว “ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร” (Gastrointestinal Motility Center) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงได้ก่อตั้งขึ้น ซึ่งถือเป็นเกียรติของบำรุงราษฎร์ที่ได้ผนึกความร่วมมือกับ ‘ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร’ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของบำรุงราษฎร์ ในด้านความเป็นเลิศทางการแพทย์ และเป็นการต่อยอดไปอีกขั้นของศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย”

ด้าน ผศ. นพ.ยุทธนา ศตวรรษธำรง หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “การก่อตั้งศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร ได้เข้ามาเติมเต็มศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในด้านบริการทางการแพทย์แบบไร้รอยต่อ ทั้งในแง่ของการเสริมศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำและตรงจุดมากขึ้น (Accurate and Precise Diagnosis) สามารถหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงได้ตั้งแต่อาการแรกเริ่ม (Early Detection) ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย (Advanced Medical Technology) จากประสบการณ์และความชำนาญการของแพทย์ ทำให้บำรุงราษฎร์สามารถส่งมอบการบริบาลดูแลป้องกันและรักษาได้ครอบคลุมทั้งโรคที่พบบ่อย โรคที่มีความรุนแรงหรือซับซ้อนเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารแบบ One Stop Service และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายขาดจากภาวะความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้”

ศ. นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาท และการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้การบริบาลดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรค ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารส่วนบนและส่วนล่าง ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก อาทิ โรคกรดไหลย้อน มักมีอาการแสบร้อนหน้าอกและเรอเปรี้ยว แต่ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการของโรคหูคอจมูก เช่น แสบคอ เจ็บคอเรื้อรัง มีเสมหะเรื้อรัง หรืออาการทางโรคปอด เช่น ไอเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคหัวใจ เช่น อาการเจ็บหน้าอกที่หาสาเหตุไม่พบ, โรคอะคาเลเซีย เป็นโรคที่ทำให้กลืนลำบาก มีสาเหตุมาจากการสูญเสียเซลล์ประสาท ที่ควบคุมการทำงานของหลอดอาหาร และหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ภาวะการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกเรื้อรัง กลั้นอุจจาระไม่ได้ ภาวะท้องอืดแน่นท้องเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานของทางเดินอาหารผิดปกติ และไม่สามารถพบความผิดปกติได้จากการส่องกล้อง หรือโรคกระเพาะอาหารที่ตรวจไม่พบสาเหตุ ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า ปวดท้องหรืออืดแน่นท้องโดยไม่รู้สาเหตุ โรคลำไส้แปรปรวน โรคท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น”

โรคการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก โดยอาการอาจจะรุนแรงรบกวนคุณภาพชีวิต และเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษาแต่เนิ่นๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งหลอดอาหาร โรคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุของโรค แต่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ พฤติกรรมการบริโภคอาหาร สุขอนามัยที่ไม่ดีพอ ความเครียด และบางโรคเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ ทำให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการวินิจฉัยโรค เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“ทั้งนี้เทคโนโลยีที่นำมาตรวจวินิจฉัยให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้มีความแม่นยำและให้การรักษาได้อย่างตรงจุด เช่น เทคโนโลยีเพื่อตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และการตรวจการทำงานของทวารหนักและหูรูดทวารหนัก, การวัดปริมาณน้ำลาย เพื่อดูการทำงานของต่อมน้ำลาย, การทดสอบไฮโดรเจนทางลมหายใจ, การตรวจวัดความเป็นกรดในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมง หรือการรักษาโดยการฝึกขับถ่ายให้เป็นธรรมชาติ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกและกลั้นอุจจาระไม่ได้ โดยผู้ป่วยท้องผูกที่รับประทานยาระบายแล้วอาการไม่ดีขึ้น ประมาณ 40% เกิดจากการเบ่งถ่ายที่ผิดวิธี แพทย์และพยาบาลจะช่วยสอนให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะเบ่งและคลาย นำไปสู่การรักษาให้หายขาดได้”

Related Posts

Send this to a friend