HEALTH

รณรงค์ผู้หญิงไทยทุกคน ตระหนัก-คัดกรองมะเร็งเต้านม หากรู้ไว หายได้ ไม่เสียเต้า

วันนี้ (6 ต.ค. 66) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผย เนื่องจากเดือนตุลาคม เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ ต่อต้านมะเร็งเต้านม ทั้งนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จึงขอเชิญชวนให้ผู้หญิงไทยทุกคน สนใจดูแลสุขภาพเต้านมของตนเอง เพื่อป้องกันโรคมะเร็งเต้านม พร้อมกันนี้แนะผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมปีละหนึ่งครั้ง จะทำให้สามารถตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้น และมีโอกาสรักษาหายขาด อีกทั้งลดการเสียชีวิตลงได้

และจากข้อมูลสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี และคาดการณ์ว่า จะมีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 22,000 รายในปี 2566 หรือประมาณการณ์โดยเฉลี่ยแล้ว ตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิงไทย 8 ราย มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม 1 ราย จึงเห็นได้ว่าเป็นโรคร้ายที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ที่สำคัญในปัจจุบันนี้โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย ติดต่อกันมานานหลายสิบปี ทั้งในเพศหญิงและชาย

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมพบเป็นอันดับหนึ่งในหญิงไทยและทั่วโลก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี และคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ มากกว่า 22,000 รายในปี 2566 หรือประมาณการณ์โดยเฉลี่ยแล้ว ตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิงไทย 1 ใน 8 ราย มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านม จึงเห็นได้ว่ามะเร็งเต้านมนั้น อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ผู้หญิงทุกคนควรดูแลตัวเอง โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนเพศหญิง โดยไม่จำเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยง ในการเป็นมะเร็งเต้านมลงได้

แพทย์หญิงวิภาวี สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลศาสตร์เต้านม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาส เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรก จะทำให้เราลดโอกาสการเสียชีวิต จากมะเร็งเต้านมได้อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้หญิงทุกคน ควรหมั่นสังเกตเต้านมตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พบความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยสัญญาณเตือนของมะเร็งเต้านม ที่สามารถตรวจพบได้ด้วยตนเอง ได้แก่ ก้อนที่เต้านม หรือ รักแร้ รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรอยบุ๋ม ผิวหนังบวมแดงขึ้น หัวนมบุ๋มหรือถูกดึงรั้ง มีผื่นหรือแผลที่เต้านมและหัวนม มีน้ำหรือเลือดไหลออกจากหัวนม

หากสังเกตพบอาการเหล่านี้ควรมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมทันที นอกจากการสังเกตด้วยตนเองแล้ว ยังสามารถมารับการตรวจเต้านม โดยบุคลากรทางการแพทย์ ได้ปีละหนึ่งครั้ง และสำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แม้จะไม่มีอาการผิดปกติ การทำแมมโมแกรมเต้านมปีละหนึ่งครั้ง จะทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านม ในระยะเริ่มแรก ที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งมีผลการศึกษาอย่างชัดเจนแล้วว่า เป็นวิธีการตรวจคัดกรอง ที่สามารถลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านมได้จริง

หากตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก โอกาสในการหายจากมะเร็งเต้านม จะสูงถึงมากกว่าร้อยละ 95 นอกจากนี้ จากวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่ก้าวหน้าในปัจจุบันทั้งในด้านการผ่าตัด การใช้ยาบำบัดรักษาโรคมะเร็ง การฉายรังสี ยังทำให้ผู้ป่วยมีโอกาส ที่จะสามารถเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดออกทั้งหมด ซึ่งการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมนี้ จะทำร่วมกับการฉายรังสี ซึ่งก็มีการพัฒนา ให้มีการฉายที่ตรงจุดมากขึ้น ลดผลข้างเคียงต่ออวัยวะข้างเคียง รวมทั้งยังมีทางเลือกในการฉายรังสีในห้องผ่าตัด ซึ่งจะลดระยะเวลาการฉายแสง จากหลายสัปดาห์เหลือเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น หรือหากผู้ป่วยต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ยังสามารถจะเลือกวิธีการเสริมสร้างเต้านมใหม่ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับไปใช้ชีวิต ได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยทุกวันนี้การรักษาโรคมะเร็งเต้านม แพทย์และบุคลากรสหสาขาที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันดูแลผู้ป่วยเพื่อให้การรักษา ที่เหมาะสมกับโรคและความต้องการ ของผู้ป่วยแต่ละรายให้ได้มากที่สุด

ในเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติอยาก ให้เป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นของผู้หญิงไทยทุกคน ในการตระหนักรู้ถึงความสำคัญ ในการดูแลตนเองใส่ใจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เพราะมะเร็งเต้านม “รู้ไว หายได้ ไม่เสียเต้า”

Related Posts

Send this to a friend