POLITICS

พิธา-ชัยธวัช ร่วมรำลึก 47 ปี 6 ตุลา ขอทุกฝ่ายร่วมเดินหน้านิรโทษกรรมคดีการเมือง

‘พิธา-ชัยธวัช’ นำพรรคก้าวไกล ร่วมงานรำลึก 47 ปี 6 ตุลา ต้องถอนฟืนออกจากกองไฟ ขอทุกฝ่ายร่วมเดินหน้านิรโทษกรรมคดีการเมือง เชื่อเป็นประตูบานแรกสู่ทางออกการเมืองไทย

วันนี้ (6 ต.ค. 66) ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค และ สส.พรรคก้าวไกล ร่วมวางพวงมาลารำลึกวีรชน 6 ตุลาคม 2519

นายพิธา กล่าวว่า นี่เป็นบทเรียนที่เราไม่ควรลืมว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นที่นี่เมื่อ 47 ปีที่แล้วมันไปได้ไกลมากถึงขนาดไหน เพราะฉะนั้น พวกเราในฐานะนักการเมือง ในฐานะประชาชนในยุคปัจจุบัน จะต้องถอดบทเรียนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อ 47 ปีที่แล้ว เป็นไปไม่ได้อีกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนตั้งใจจะศึกษาและทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

นายพิธา ระบุว่าในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์หรือความผูกพันกับเหตุการณ์นี้ ในขณะเรียนที่นี่ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว สถานที่เรียน อยู่ฝั่งตรงข้ามสนามฟุตบอลที่เป็นสถานที่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อในอดีตที่ผ่านมา มีหลักฐานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราได้เห็นมุมมองต่างๆ ทำให้เห็นว่ามีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าถึง หรือพยายามที่ทำให้เราลืม ประวัติศาสตร์ที่ต้องการให้ทดแทนด้วยความว่าง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“4 ปีที่ผ่านมา ก็มีความพยายามศึกษาประวัติศาสตร์และเสาะหาข้อเท็จจริง จนถึงเวลานี้ยังไม่มีบทสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เกิดอะไรขึ้น และความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ยังไม่มีคำตอบให้สังคม และนักศึกษาธรรมศาสตร์ คนรุ่นนี้เข้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่ารุ่นผม” นายพิธา กล่าว

นายพิธา มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลไม่ได้สำคัญ และคิดว่าพรรคก้าวไกลก็ยังพยายามทำงานเพื่อทำให้เหตุการณ์แบบ 6 ตุลาเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมไทย นั่นคือ การยื่น พ.ร.บ. นิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมือง เพื่อจะเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้มีโอกาสทำให้เกิดความแตกแยกที่ไม่มีวันจบวันสิ้น หวังว่าจะเป็นการเสาะหาข้อเท็จจริงมีการรับผิดชอบ สังคมเกิดความยุติธรรม และเดินหน้าต่อไปได้

ขณะที่นายชัยธวัช กล่าวว่า ในวาระ 47 ปี 6 ตุลา คงไม่ใช่การรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น เพราะเหตุการณ์นี้ สะท้อนปัญหาทางการเมือง ตนเองคิดว่ายังเป็นโจทย์ที่ตกค้างในปัจจุบันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น ในการแสดงออกทางการเมือง การที่ระบบกฎหมายและอำนาจรัฐควรจะต้องเคารพชีวิตร่างกายของประชาชน ไม่ใช่อนุญาตให้อำนาจใดใดมาพรากชีวิต พิพากษาประชาชน ยังไม่ต้องนับว่าเรายังมีคนที่ถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรงโดยเฉพาะความคิดเห็นทางการเมือง
ซึ่งมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีหลายพันคน ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมือง ส่วนตัวมองว่านักเคลื่อนไหวที่ออกมาต้องการทำให้สังคมดีขึ้น

“เป้าหมายแรกที่รัฐบาลควรทำก่อนคือกันคืนความยุติธรรม เพื่อทำให้ทุกฝ่ายลดกำแพง เดินหน้าและใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยในการที่จะร่วมกันแสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทยว่าแม้เราจะเห็นต่างกันแต่เราอยู่ร่วมกันได้”

นายชัยธวัช กล่าวว่า กฎหมายนิรโทษกรรม จะเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงปัจจุบัน จากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อไม่จบสิ้น การนิรโทษกรรมทางการเมืองจะเป็นทางออก เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าอยากสร้างสังคมที่ดีในมุมตัวเอง เมื่อขัดแย้งขนาดนี้ ประตูบานแรกของการสร้างความปรองดอง คือการคืนความยุติธรรม ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย ร่วมกันแสวงหาฉันทามติใหม่ ที่จะยอมรับอยู่ร่วมกันได้

ส่วนกรณีรัฐบาลเตือนว่าต้องระวัง เพราะการยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรม อาจนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนเองเชื่อว่ากระบวนการนิติบัญญัติในสภาจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราความคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกันมาออกแบบร่วมกันอย่างรอบคอบและรอบด้าน ถ้าพรุ่งนี้จะผ่านสภาได้บังคับใช้ได้ไม่ใช่พวกก้าวไกลพรรคเดียว แกนนำพรรครัฐบาลกับเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ แม้กระทั่ง สว. ก็ต้องมีความเห็นที่เป็นจุดร่วมกัน ตนเองขอเชิญชวนพรรคการเมืองต่างๆ ถ้าเป็นไปได้สามารถส่งร่างของตนเองมาประกบได้

“ผมคิดว่าใช้กระบวนการทางสภาดีกว่าใช้อำนาจบริหารอย่างเดียว ถ้าเกิดไปออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม อันนี้ยิ่งเป็นกระบวนการที่รวบรัดและขาดการมีส่วนร่วม แต่กระบวนการทางสภาผ่านหลายขั้นตอน” นายชัยธวัช กล่าว

Related Posts

Send this to a friend