กรมควบคุมโรค แนะนักวิ่งไม่หักโหมเกินไป ผู้มีโรคประจำตัวปรึกษาแพทย์ก่อนลงแข่งทุกครั้ง

วันนี้ (7 มิ.ย. 66) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันพุธแรกในเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นวันวิ่งโลก (Global Running Day) จากการดำเนินงานเฝ้าระวังของกองโรคไม่ติดต่อ กรณีการเสียชีวิตขณะวิ่งในงานวิ่ง โดยในปี 2565 จากงานวิ่ง 832 งาน พบเหตุหมดสติจำนวน 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน 11 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง 50-59 ปี โดย 23 รายที่หมดสติรวมถึงผู้เสียชีวิตเป็นนักวิ่ง นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ระยะทางที่เกิดเหตุการณ์มากสุดคือ ระยะทางสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย (Quarter 4) ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัว หรือมีโรคประจำตัวแต่ขาดการรักษา
สาเหตุที่ทำให้นักวิ่งหมดสติหรือเสียชีวิต ได้แก่ การเร่งทำลายสถิติตนเอง ดื่มน้ำไม่เพียงพอ รับประทานยาที่มีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจ การฝึกฝนที่ไม่เพียงพอต่อระยะทางที่ลงแข่งขัน ความถี่ของการลงแข่งขันที่บ่อยและหักโหมเกินไป ดังนั้นนักวิ่งต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อกำหนดรูปแบบการวิ่งให้เหมาะสมกับตนเอง
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การวิ่งมาราธอนที่ขาดการเตรียมตัวหรือหักโหมเกินไปในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง จะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดภาวะวิกฤตได้ จึงมีข้อแนะนำก่อนการลงแข่งขันสำหรับนักวิ่ง ดังนี้
1.เตรียมพร้อม ฝึกฝนร่างกายให้เพียงพอกับระยะทางการลงแข่งขัน
2.ไม่ลงแข่งขันวิ่งระยะทางไกลในช่วงเวลาที่ติดต่อกันมากเกินไป
3.สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม
4.ไม่ควรรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจทั้งก่อนวิ่งและขณะวิ่ง
5.นักวิ่งที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนลงแข่งขันทุกครั้ง
6.นอนพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันวิ่ง
7.ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
8.ให้ข้อมูลสุขภาพที่เป็นจริง เพื่อการเตรียมความพร้อมให้การดูแล และเฝ้าระวังเหตุการณ์ฉุกเฉิน
9.ตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และค่าฝุ่น PM 2.5 ล่วงหน้าก่อนถึงวันแข่งขันจริง เพื่อเตรียมพร้อมร่างกาย วางแผนการดื่มน้ำระหว่างวิ่งให้เหมาะสม
10.หากแน่นหน้าอกหรือหน้ามืด ควรหยุดพักและแจ้งหน่วยแพทย์ในงานวิ่งทันที
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า การวิ่งครั้งละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วนลงพุง หัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น จึงเชิญชวนให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์เพื่อสุขภาพที่ดี การวิ่งที่ดี คือไม่วิ่งระยะทางไกลมากเกินไป ไม่วิ่งเร็วเกินไป ไม่วิ่งติดต่อกันจนเกินไป ควรเว้นวันพักผ่อนให้เหมาะสมกับระยะทาง และวิ่งอย่างปลอดภัยโดยการเตรียมความพร้อมก่อนลงแข่งขัน