HEALTH

ศูนย์รักษ์พุง ชวนคนไทย เดิน-วิ่ง ร้อยโลรวมใจต้านภัยโรคอ้วน

‘ศูนย์รักษ์พุง’ หรือคลินิกโรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง ร้อยโลรวมใจต้านภัยโรคอ้วน หรือ 100KG Obesity Run 2024 ณ ลานจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รณรงค์ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยออกกำลังกาย ป้องกันโรคอ้วน สร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายให้แก่ประชาชนทั่วไป

ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์โรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์รักษ์พุงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลป้องกันโรคอ้วน ควบคู่กับการรักษาอย่างถูกวิธี จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยมีบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้สนับสนุนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ

จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี พ.ศ.2556 พบว่า ผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายเป็นประจำเป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้ถึง 30-50% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ดังนั้น วิธีป้องกันโรคอ้วนที่ได้ผลมากที่สุดคือการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง มีสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ การรับประทานอาหารที่หลากหลาย ให้คุณค่าทางอาหารสูงแต่ให้พลังงานต่ำ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งการวิ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่งในการรักษาภาวะน้ำหนักเกิน ช่วยลดปริมาณไขมันที่สะสมในช่องท้องและใต้ผิวหนัง อีกทั้งยังช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่มากับโรคอ้วนอีกด้วย

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปี พ.ศ. 2560 รายงานว่า การวิ่งเหยาะ ๆ หรือเดินเร็ว เป็นการเผาผลาญไขมันได้ดีที่สุด แต่ที่สำคัญจะต้องวิ่งหรือเดินเร็วให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีติดต่อกันโดยไม่หยุดพัก เนื่องจากการวิ่งเหยาะ ๆ เป็นการใช้ความหนักในการออกกำลังกายไม่มาก (low intensity) ทำให้ได้ระยะทางไกลกว่าการวิ่งเร็ว และยังเผาผลาญไขมันได้มากกว่าแป้ง เพราะไขมันจะถูกเผาพลาญก็ต่อเมื่อวิ่งต่อเนื่องนานถึง 30 นาที ขณะที่การวิ่งเร็ว ๆ แต่ไม่ถึง 30 นาที แล้วต้องหยุดจึงลดไขมันไม่ได้

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน ศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและสถานการณ์โรคอ้วนในปัจจุบัน โดยสร้างการรวมตัวสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัมได้เข้าร่วมกิจกรรม เช่นเดียวกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวไม่ถึง 100 กิโลกรัม ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องเดิน-วิ่งเป็นระยะทางอย่างน้อย 2 กิโลเมตร และอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด

ศ.นพ.สุเทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินสามารถรักษาได้โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ รวมถึงการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ซึ่งมีแนวทางการรักษาที่หลายหลายมากขึ้น หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาร่วมด้วย ปัจจุบันเรามีนวัตกรรมยามากขึ้นสำหรับการรักษาโรคอ้วนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง บางรายแพทย์แพทย์จะเป็นผู้ประเมินร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้องในการผ่าตัดร่วม โดยคำนึงถึงภาวะโรคอ้วนและโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

Related Posts

Send this to a friend