HEALTH

แพทย์ จุฬาฯ ชี้ มะเร็งปอด รักษาหายได้ หากเข้าใจ ตรวจพบไว รักษาทันท่วงที

รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ ประธานคณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความเลิศ ทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดโรค ที่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทยเกือบแสนรายในแต่ละปี ทั้งนี้หากตรวจพบไว โอกาสรักษาหายยิ่งมีมาก พร้อมกันนี้แนะประชาชนตรวจสุขภาพปอดสม่ำเสมอ พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี การตรวจรักษาและยา ที่ช่วยยืดอายุ และประคองคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย

รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า “สิ่งที่น่ากลัวกว่าการเป็นโรคมะเร็งปอด คือความไม่รู้ และความเข้าใจผิด จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลายราย มาตรวจและได้รับการรักษาเมื่อใกล้จะสายเกินไป มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่ยากที่สุด เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรก มักไม่ปรากฎอาการ จนเมื่อผู้ป่วยพบว่าตัวเองไอเรื้อรัง น้ำหนักลด โรคมะเร็งปอดก็ลุกลามและแพร่กระจายแล้ว นอกจากนี้ผู้ป่วยมักกลัวที่จะมาตรวจ เพราะกลัวว่าจะเป็นโรค และกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา เหล่านี้ทำให้เสียโอกาส เพราะการตรวจพบมะเร็งปอด ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและได้รับรักษาที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคได้มากกว่า”

“มะเร็งปอดเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เลือกเพศ ช่วงวัย และสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งมีหลายประการ แต่ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ครองแชมป์ก่อโรคมะเร็งปอดอันดับหนึ่งก็ยังคงเป็นการสูบบุหรี่ คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ แต่การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เช่น ถ้าเราเอาคนที่ไม่สูบบุหรี่มา 1,000 คน อาจจะเจอคนเป็นมะเร็งปอดไม่ถึง 1 คน แต่ถ้าตรวจคนสูบบุหรี่ 1,000 คน เรามีโอกาสเจอคนเป็นมะเร็งปอดได้ 4-5 คน หากในครอบครัวมีผู้สูบบุหรี่ สมาชิกในครอบครัวนั้น ก็จะกลายเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง และมือสาม มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน เนื่องจากสารก่อมะเร็งที่อยู่ในบุหรี่ จะติดและตกตะกอนอยู่ในบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ และจะมีกลิ่นบุหรี่แม้ขณะนั้นจะไม่สูบแล้วก็ตาม เมื่อสูดเข้าไปบ่อยๆก็เข้าไปอยู่ในปอด”

นอกจากการสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด ได้แก่ 1.โรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคพังพืดที่ปอด การเคยได้รับรังสีรักษาและสะสมเป็นเวลานาน 2.มลพิษทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมัน สถานที่ก่อสร้าง บรรยากาศที่มีฝุ่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ การเผาไหม้ PM2.5 หรือสารเคมีบางชนิด เช่น แร่เรดอน แร่ใยหิน เบนซีน ไฮโดรคาร์บอน (สำหรับข้อมูลเจาะลึก “แร่เรดอน” ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสีได้จากการแยกสลายธาตุเรเดียม) 3.กรรมพันธุ์ การมีประวัติคนในครอบครัว เป็นโรคมะเร็งทุกชนิด อย่างไรก็ตามในบรรดาสาเหตุก่อมะเร็งปอดทั้งหมด ปัจจัยทางพันธุกรรมมีเพียง 10% เท่านั้น

“ส่วนใหญ่การเป็นมะเร็งปอด จะมาจากการสัมผัสใกล้ชิด กับปัจจัยก่อมะเร็งแวดล้อมมากกว่า อย่างเช่นการอยู่ในครอบครัวที่มีคนสูบบุหรี่ แนะว่าเราสามารถลดโอกาส การเป็นมะเร็งปอดได้ด้วยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างแรกเลย คือไม่สูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงพื้นที่มีคนสูบบุหรี่ เลี่ยงการอยู่หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มลภาวะเป็นพิษสูง หาพื้นที่ภายในบ้านที่เป็น “เซฟโซน” มีเครื่องฟอกอากาศ ปลูกต้นไม้ หรือสร้างสภาพแวดล้อม ที่ช่วยปรับให้อากาศดีขึ้น สำหรับอาการต้องสงสัย “มะเร็งปอด” นั้นได้แก่ ไอ เหนื่อยง่าย หอบ มีเสมหะปนเลือดเรื้อรัง และมีก้อนโตที่คอ หากมีอาการดังกล่าวต่อเนื่องราว 2-3 สัปดาห์ โดยที่อาการไม่ลดหรือทุเลาลง ให้รีบมาพบอายุรแพทย์โรคปอดโดยเร็ว”

ด้าน นายแพทย์ นพพล ลีลายุวัฒนกุล หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “ข้อสังเกตอาการที่น่าสงสัยของมะเร็งปอด นอกจากอาการตั้งต้นดังกล่าว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ขึ้นกับว่าเซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ไปยังอวัยวะใด เช่นหากมะเร็งแพร่ไปที่สมอง ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการทางสมอง หรือหากมะเร็งแพร่ไปที่กระดูก ผู้ป่วยก็มีอาการปวดกระดูก หรือถ้าไปตับผู้ป่วยก็จะมีอาการแน่นท้อง ตัวเหลือง นอกจากนี้เซลล์มะเร็งอาจจะสร้างสารบางอย่าง ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตัน เยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ บางทีเราก็เจอว่าผู้ป่วยมีอาการสมองหรือเส้นประสาท โดยไม่ได้มีเซลล์มะเร็งอยู่ในระบบนั้นๆ”

“สำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในปัจจุบัน ใช้วิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีที่ต่ำ (Low-dose CT) ซึ่งสามารถตรวจพบมะเร็งปอด ในระยะเริ่มต้นได้ราว 60-90% มากกว่าการตรวจเอกซเรย์ปอดถึง 4 เท่า เมื่ออัตราการตรวจพบมะเร็งมีมากขึ้น อัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งปอดก็มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จะแบ่งความเสี่ยงของโรคจากลักษณะก้อนที่พบในปอด ซึ่งในหลายกรณี จะต้องมีการตรวจคัดกรองขั้นต่อไป เช่น การส่องกล้องหลอดลม เจาะตรวจชิ้นเนื้อ และการผ่าตัด ฯลฯ การตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีนี้ เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะเป็นมะเร็งปอด เช่น “คนสูบบุหรี่” โดยเฉพาะคนในช่วงวัย 50-75 ปี ไม่ว่าจะยังสูบบุหรี่อยู่ หรือเลิกสูบบุหรี่ไปแล้วไม่เกิน 15 ปี และสูบมากกว่า 20 แพคเยียร์ (Pack-year เป็นการคำนวณจากแพ็คบุหรี่ ที่สูบต่อวัน x จำนวนปี เช่น 1 ซองต่อวัน x 20 ปี = 20 Pack-year)”

ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นนักสูบ หรืออยู่ในครอบครัวที่มีประวัติสูบบุหรี่ ต้องให้แพทย์ประเมินความจำเป็นในการตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีนี้ เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบ จากการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหรือผ่าตัด เช่น ภาวะลมรั่วในปอด ภาวะเลือดออกจากการตัดชิ้นเนื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจด้วย

“แนวทางการรักษามะเร็งปอด จะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้าพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ก็จะใช้การผ่าตัดเป็นหลัก ถ้าโรคเข้าสู่ระยะกลางๆ อาจจะมีการฉายแสงเสริมเข้ามา มีการผ่าตัดบ้างแล้วก็ให้ยา แต่ถ้าโรคแพร่กระจายไปมากแล้ว ก็อาจจะให้ยาเพียงอย่างเดียว หรือฉายแสงเพื่อบรรเทาอาการ”

แพทย์หญิง ปิยะดา สิทธิเดชไพบูลย์ อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา กล่าวว่า “มะเร็งปอดอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่”

1.มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) เป็นเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายได้รวดเร็วและมักพบในผู้ป่วยที่เป็น “นักสูบ” แม้จะหยุดสูบบุหรี่มานานแล้ว ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ได้

2.มะเร็งปอดประเภทเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer – NSCLC) มะเร็งปอดประเภทนี้เกิดจากปัจจัยก่อมะเร็งที่หลากหลาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ มะเร็งปอดชนิดนี้มีโอกาสพบได้มากที่สุดโดยปัจจุบัน 90 % ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเป็นมะเร็งในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ในกลุ่มคนเอเชีย ยังพบการกลายพันธุ์ประเภท Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) ในเซลล์ประเภทนี้ถึง 50 % เมื่อเทียบกับยีนกลายพันธุ์ประเภทอื่น ซึ่งแพทย์หญิงปิยะดา กล่าวเสริมว่าปัจจุบัน มีการตรวจพบเซลล์มะเร็งปอดลงลึกถึงระดับยีนได้กว่า 10 ชนิด

นายแพทย์นพพร พรพัฒนารักษ์ หน่วยศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก กล่าวว่า “แต่ทั้งนี้ต้องเลือกให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป โดยวินิจฉัยจากเชื้อมะเร็ง ขนาด-ตำแหน่งชิ้นเนื้อ ระยะของโรค และสภาวะร่างกายร่วมทั้งโรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยเฉพาะการรักษาในมะเร็งระยะต้น ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดก่อนหรือหลังการได้รับยาก็ได้”

“การผ่าตัดจะเป็นการรักษาแรก ที่เลือกในกรณีทีเซลล์มะเร็ง อยู่ในจุดใดจุดหนึ่งในเนื้อปอด และพิจารณาแล้วว่ามีแนวโน้ม ที่จะไม่มีการแพร่กระจายการผ่าตัด เพื่อครอบคลุมระยะที่แท้จริงของมะเร็งปอดได้อย่างสมบูรณ์ และหวังผลให้มะเร็งปอดหายขาดนั้น จะต้องตัดก้อนมะเร็งออก พร้อมกับเนื้อกลีบปอดรอบข้าง เลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด ทางเดินหายใจและลงไปถึงหลอดลมส่วนบน”

ปัจจุบัน การผ่าตัดปอดมี 2 วิธี ได้แก่

1.การผ่าตัดแบบเปิด (Thorecotomy) ใช้ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือตัวโรคกระจายเป็นบริเวณกว้างในปอด

2.การผ่าตัดแบบแผลเล็กโดยการส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery, VATS: Video-Assisted Thoracoscopic Surgery) เป็นการใช้อุปกรณ์เฉพาะลักษณะเป็นด้ามยาว สามารถผ่าตัดเอากลีบก้อนมะเร็งออกโดยไม่ถ่างช่องซี่โครง ข้อดีคือแผลการผ่าตัดเล็กประมาณ 3 ซม. ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวดลดลง ทำให้ปฏิกิริยาตอบสนอง ของผู้ป่วยดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งที่ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาฯ เน้นการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ โดยมีทั้งการผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเดียว (Single Port) การผ่าตัดแบบผสมผสานทั้งสองวิธี (Hybrid Operation) และการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-Assisted Lung Surgery)

ด้าน แพทย์หญิง ดนิตา กานต์นฤนิมิต หน่วยรังสีวิทยา กล่าวว่า “นอกจากการผ่าตัดแนวทางการรักษามะเร็งปอด ยังมีเรื่องการรักษาด้วยการฉายรังสีด้วย ซึ่งที่ รพ.จุฬาฯ รังสีที่ใช้เป็นมาตรฐานคือรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic body radiation therapy) หรืออีกชื่อ “รังสีศัลยกรรม”เราให้รังสีร่วมกับระบบภาพนำวิถี (Image-Guided Radiation Therapy) เพื่อความแม่นยำ ซึ่งความถี่หรือระยะเวลาในการรักษานั้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งปอด”

“เมื่อมะเร็งปอดเข้าสู่ระยะ 2-3 จะใช้การฉายรังสีควบคู่ไปกับเคมี-ภูมิคุ้มกันบำบัด แทนผ่าตัด หรือใช้ร่วมกันก่อนและหลังผ่าตัด ส่วนมะเร็งในระยะ 4 จะใช้รังสีรักษาเพื่อควบคุม และบรรเทาให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตปลอดจากอาการโรคได้ รวมถึงใช้รังสีอื่นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ อาทิ ฉายรังสีโปรตอน (Proton) พุ่งตรงไปที่มะเร็ง เพื่อลดปริมาณรังสี ผลข้างเคียงต่ออวัยวะสำคัญ เช่น รอยโรคที่ต้องฉายซ้ำ รอยโรคใกล้ผนังหัวใจ หากสภาพร่ายกายของผู้ป่วยไม่แข็งแรง การฉายรังสีนับเป็นตัวเลือกหนึ่ง ที่ให้ผลอัตราการควบคุมโรคที่สูง ทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงตามไปด้วย”

การรักษามะเร็งปอดระยะต้น (ระยะ1-2) ใช้ “การผ่าตัด” มีโอกาสหายขาดค่อนข้างสูง แต่ก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นซ้ำได้ ยาจึงมีบทบาทเป็นตัว ‘เสริม’ หลังการผ่าตัด ผลชิ้นเนื้อจะบอกเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงมากน้อยของโรค และช่วยในการเลือกยาเพื่อรักษา แบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายๆไป เราไม่อาจใช้ยากับทุกคนได้เหมือนกัน และจะต้องตรวจละเอียดด้วยว่า ผู้ป่วยแต่ละคนเป็นมะเร็งชนิดใด”

สำหรับกลุ่มยาที่ใช้รักษามี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งต้องเลือกใช้ให้ตรงชนิดและระยะของโรค และผู้ป่วยบางรายก็อาจจะต้องได้ รับยาแบบผสมผสาน

“มะเร็งปอดรักษาหายขาดได้ (โดยเฉพาะเมื่อมารับการรักษาในระยะต้นๆ) แต่ก็กลับกลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพราะการไม่รู้จักโรค ความกลัว ความวิตกกังวล ความเข้าใจผิดที่เกิดมาก จากการได้รับข้อมูลข่าวสารผิดๆจากคนรอบข้าง และจากโลกโซเซียล สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้หลายคนเสียโอกาสชีวิตไปไม่น้อย อย่ากลัวที่จะตรวจเจอมะเร็งปอด เพราะมีหนทางดูแลรักษา โดยเฉพาะในระยะต้นๆ อย่ากังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในโรค ที่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

Related Posts

Send this to a friend