HEALTH

กรมอนามัย เตือนประชาชน เฝ้าระวังโรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วม

วันนี้ (4 ต.ค. 66) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงสุขภาพ ที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งได้แก่ โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง และโรคอันเนื่องจากการสุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาทิ โรคระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว ไฟฟ้าดูด ที่อาจเกิดในช่วงน้ำท่วม และสัตว์มีพิษต่างๆ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน ทั้งนี้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์ และรับฟังการแจ้งเตือน จากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์อรรถพล กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในหลายจังหวัดเนื่องจากประเทศไทย ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และมีฝนตกปานกลางในภาคกลาง และภาคใต้ ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง ซึ่งมีประชาชนบางส่วนเร่งอพยพไปยังที่ปลอดภัยแล้ว ส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์ รับฟังการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กรมอนามัยขอให้ประชาชน ดูแลสุขอนามัยของตนเอง และคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง หลีกเลี่ยงการลุยน้ำสกปรก ที่อาจเกิดการติดเชื้อที่เท้า แต่หากจำเป็นต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูทกันน้ำ เมื่อขึ้นจากน้ำให้ทำความสะอาดบริเวณต่างๆ ของร่างกายด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งทันที และหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ นอกจากนี้ขอให้เตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพอ สำหรับการบริโภคในช่วงประสบภัย และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ และโรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ส้วม กรณีที่มีอาหารแจกจ่ายมาในพื้นที่ ที่ประสบภัยให้สังเกตลักษณะ สี กลิ่นของอาหาร ต้องไม่มีกลิ่นเน่าเสียหรือผิดปกติ หากพบความผิดปกติหลีกเลี่ยง การรับประทานทันที

“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้มอบหมาย ให้ทีมภารกิจปฏิบัติการ ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ ร่วมประเมินความเสี่ยง และสนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งในชุมชนประสบภัยน้ำท่วม และพื้นที่ศูนย์อพยพ หรือศูนย์พักพิงชั่วคราว เช่น การจัดการมูลฝอย ส้วมสะอาด การกำจัดสิ่งปฏิกูล การสุขาภิบาลอาหาร และน้ำบริโภค ลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาด หรือโรคติดเชื้ออื่นที่อาจเกิดขึ้นในช่วงภาวะวิกฤติน้ำท่วม และเร่งสื่อสาร สร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำการในการมีพฤติกรรมอนามัยที่ดี ดูแลสุขภาพ และป้องกันความเสี่ยง ที่มาจากภัยน้ำท่วมของตนเอง และคนในครอบครัวที่ประสบภัยต่อไป”

Related Posts

Send this to a friend