HEALTH

สสจ.เชียงใหม่ เตือน ‘อย่ากินไส้กรอกที่ไม่ทราบแหล่งที่มา-ไม่มี อย.’

สสจ.เชียงใหม่ เตือน ‘อย่ากินไส้กรอกที่ไม่ทราบแหล่งที่มา-ไม่มี อย.’ หลังพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน 6 รายใน 5 จังหวัด

นายแพทย์ จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาพบมีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ 2 ราย , เพชรบุรี 1 ราย , สระบุรี 1 ราย , ตรัง 1 ราย และ กาญจนบุรี 1 ราย โดยทั้งหมดมีประวัติรับประทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ไม่มีอย. ไม่มีฉลากระบุที่มา หรือผู้ผลิตว่า ภาวะ Methemoglobin เป็นภาวะที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดช์ โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ กลายเป็น methemoglobin ทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน สีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ในเด็กจะไวต่อสารออกซิแดนท์มากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการได้ชัดเจน โดยผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ปาก ลิ้น นิ้วมือ หรืออวัยวะอื่นๆ มีสีเขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำและเสียชีวิตได้

สำหรับสารออกซิแดนท์ที่อาจมีการเติมในไส้กรอกหรืออาหารแปรรูป คือสารตระกูลไนเตรท และไนไตรท ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 418 (พ.ศ. 2563) ได้กำหนดปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ไนไตรทในอาหาร ประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อน ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนไนเตรต ห้ามมิให้มีการใส่ ดังนั้นในการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน โรงงานผลิตไม่มี อย. จึงอาจมีการเติมไนไตรท มากกว่าปกติ หรืออาจผสมไม่ดี ทำให้มีบางส่วนที่มีปริมาณสารสูงเกินกว่าที่ควรได้ และอาจมีการเติมสารไนเตรต ซึ่งเป็นสารห้ามใส่

นายแพทย์จตุชัย เพิ่มเติมว่า ประชาชนต้องระมัดระวังการบริโภคไส้กรอก มีวิธีดูง่ายๆ คือ สีของไส้กรอกต้องเป็นสีตามธรรมชาติ ไม่แดงจนเกินไป , บรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ระบุชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร (เลข อย.) วันที่หมดอายุ รวมถึงสถานที่ผลิตที่ชัดเจน , ไส้กรอกเป็นอาหารที่ต้องอยู่ในความเย็น ดังนั้น เมื่อเลือกซื้ออาหารต้องอยู่ในตู้แช่ หรือน้ำแข็ง เพื่อรักษาอุณหภูมิ

ส่วนการเลือกซื้อไส้กรอกแบบปรุงสำเร็จ ควรสอบถามยี่ห้อและแหล่งที่มาจากแม่ค้าพ่อค้าเพื่อความมั่นใจ หากพบว่ารับประทานแล้วมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยด่วน

ด้าน ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่าในอดีตเคยเกิดกรณีในลักษณะดังกล่าวมาก่อนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเด็กรับประทานไส้กรอกและป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน ท้ายที่สุดเสียชีวิตลง

จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นทั้งในอดีตและยังเกิดซ้ำรอยอีกในปัจจุบัน ภก.ภาณุโชติ กล่าวว่า เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าระบบการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังต้องมีการพัฒนาเพื่อเตือนภัยผู้บริโภคให้ทันเหตุการณ์ โดยในกรณีล่าสุด สามารถระบุจังหวัดที่มีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน และยังมีข้อมูลที่พบด้วยว่า ไส้กรอกไม่มีฉลาก ซึ่งหากสอบสวนข้อมูลด้วยระบบติดตามสินค้าหลังอนุญาตให้วางจำหน่าย (Post-Marketing) โดยส่งต่อข้อมูลกลับไปยังจังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้ติดตามต้นตอและแหล่งผลิตได้ นอกจากนี้ยังอาจจะพบว่า ระบบการเฝ้าระวังส่วนใดที่ยังมีช่องโหว่อยู่ ซึ่งจะทำให้ อย. สามารถอุดรูรั่วและพัฒนาระบบการเฝ้าระวังเตือนภัยให้รวดเร็วและทันเหตุการณ์มากยิ่งขึ้นได้

Related Posts

Send this to a friend