HEALTH

กรมสุขภาพจิต เผยทั่วโลกพบวัยรุ่น-หนุ่มสาววัยทำงาน ซึมเศร้าเพิ่มขึ้น

แนะคนใกล้ชิดช่วยพยุงจิตใจป้องกัน “ฆ่าตัวตาย” ผลักดันการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เสมือนจิตแพทย์ มีคนใช้บริการแล้วกว่า 5 พันราย

วันนี้ (2ธ.ค. 65 ) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ชี้ความเครียดวิตกกังวลจากปัญหาสุขภาพ จากสถานการณ์โควิด ปัญหาสังคมรอบข้างที่กดดันตนเอง และปัญหาเศรษฐกิจยังคงรุมเร้าต่อเนื่อง นำไปสู่การทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายได้ กรมสุขภาพจิตแนะ คนใกล้ชิดและครอบครัว คือ กุญแจสำคัญ ในการให้กำลังใจวัยรุ่น วัยทำงานตอนต้น เพื่อให้ก้าวผ่านวันที่อ่อนแอ และช่วยเยียวยาก่อนจะเกิดความสูญเสียที่รุนแรง

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวว่า “ขณะนี้มีการรายงานสถานการณ์ทั่วโลก และการศึกษาในประเทศไทยที่พบว่า กลุ่มวัยที่อายุน้อย วัยรุ่น หรือวัยทำงานตอนต้น มีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายได้ เพราะมีหลายปัจจัย จากสถานการณ์โควิด 19 และภัยคุกคามอื่นๆที่ทำให้เยาวชนและวัยรุ่น ต้องปรับการดำเนินชีวิต เช่นการใช้เวลาเรียนทำงานออนไลน์ มากกว่าการพบปะเพื่อนและสังคมตามภาวะปกติ อาจทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ส่งผลทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งนี้ในบางรายแม้จะเครียดมาก แต่พฤติกรรมภายนอกไม่แสดงออก ทว่าในใจมีอาการดำดิ่ง สู่ความเจ็บปวดอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การตัดสินใจด้วยอารมณ์ที่นำมาซึ่งความเสียใจให้กับคนรอบข้าง เช่นความกดดันของวัยเรียนที่กลัวว่า จะไม่สามารถทำตามความคาดหวังของครอบครัว นำไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย เพราะเข้าใจว่าการกระทำนั้นเป็นทางเลือกที่ต้องการเผชิญหน้า หรือรับมือแต่เพียงคนเดียว ดังนั้นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีความรู้สึกหดหู่ให้มองด้านบวก นึกถึงคุณค่าของตนเอง ปล่อยวางความคิด ปรับวิธีคิดให้แตกต่างไปจากเดิม จะช่วยให้หาทางออกในการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น หากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง การขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด หรือการรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นวิธีที่จะสามารถช่วยได้ ซึ่งการตัดสินใจขอความช่วยเหลือเหล่านั้น ไม่ได้เป็นการสร้างภาระ เปรียบเหมือนการมองหาเข็มทิศ ที่จะช่วยในการรับมือต่อสู้ กับความคิดของตนเอง เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ที่รุมเร้าได้ ทั้งนี้คนใกล้ชิด ครอบครัว ครู อาจารย์และเพื่อน ต้องช่วยกันเติมพลังใจให้แก่กัน

ไม่ตำหนิความคิดหรือการตัดสินใจของบุคคลเหล่านั้น พร้อมกับรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจ โดยไม่ใช้ความคิดของตนเองเข้าไปตัดสิน ร่วมสะท้อนสภาวะจิตใจว่าความเศร้า หรือความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่นั้น มีต้นตอมาจากไหน แนะนำว่าควรจะจัดการร่วมกันอย่างไร ด้านกรมสุขภาพจิต ยังดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ มุ่งหน้าทำให้ดีที่สุดเพื่อรักษาทุกชีวิตให้ได้มากที่สุด และยังเน้นการช่วยเหลือเพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่เพียงการป้องกันไม่ให้ทำร้ายตัวเอง แต่ทำให้คนมีความทุกข์น้อยลง และยังสามารถช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสังคมอีกด้วย

ด้าน แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า “เมื่อมีปัญหาในการจัดการอารมณ์ มีภาวะเครียด ซึมเศร้า ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจัดการอย่างไร สามารถเริ่มจากการประเมินสุขภาพใจได้ทาง www.วัดใจ.com ซึ่งเป็นการประเมินสุขภาพใจของตนเองผ่านแบบสอบถาม สามารถบอกได้เบื้องต้นว่ามีความเสี่ยง ต่อปัญหาสุขภาพจิตในระดับใดบ้าง ส่วนผู้ที่มีปัญหาชัดเจนเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า หรือมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง สามารถประเมินความเสี่ยง ต่อซึมเศร้าหรือทำร้ายตนเอง ที่ปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อ Dmind ผ่านไลน์หมอพร้อม โดยเข้าไปที่ฟังชั่นคุยกับหมอพร้อม แล้วกดตรวจสุขภาพใจ จะได้พูดคุยและประเมินผ่านปัญญาประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่เสมือนกับคุณหมอ

ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 พบว่ามีจำนวนผู้เข้าใช้งานประเมินซึมเศร้าผ่านระบบ Dmind ผ่านทางระบบหมอพร้อม จำนวนทั้งหมด 72,610 ราย พบว่าภาวะสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ และพบปัญหาสุขภาพจิตในระดับน้อย ร้อยละ 75.92 ระดับปานกลางร้อยละ 16.61 และระดับรุนแรง ร้อยละ 7.47 โดยหากนับจำนวนแล้วพบว่า ในกลุ่มระดับรุนแรงมีจำนวนถึง 5,427 ราย ซึ่งจำนวนนี้ผู้ที่ยินยอมให้ติดตามช่วยเหลือ สามารถดำเนินการได้ถึง ร้อยละ 70.04

ทั้งนี้หากผู้ประเมินพบว่าตนเองพบว่า มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต สามารถให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้บุคลากรสาธารณสุข ประสานกลับไปเพื่อดูแล นอกจากนี้ช่องทางให้การปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรี ตลอด24 ชั่วโมง จากข้อมูลช่วงเดือนตุลาคม 2564 ถึงกันยายน 2565 สายด่วน1323 ได้ให้บริการถึง 95,029 รายโดยกลุ่มที่อายุ 12-18 ปี มีจำนวน 7,369 คนซึ่งปัญหาที่ขอรับปรึกษามากที่สุด 3 ลำดับ คือ ปัญหาครอบครัว ความรักและการเรียน ในขณะที่กลุ่มอายุ 18-29 ปี มีจำนวน 28,421คนและปัญหาที่ขอรับปรึกษามากที่สุด 3 ลำดับ คือ ปัญหาความรัก ครอบครัวและการทำงาน โดยปัจจุบันได้มีเพิ่มระบบนัดผ่าน https://1323alltime.camri.go.th เพื่อผู้รับบริการเลือกรับวันเวลาที่สะดวกได้อีกด้วย ทุกปัญหามีทางออกและสามารถแก้ไขได้เสมอ การเก็บสะสมไว้จนเกิดความเครียด ความทุกข์ จะยิ่งสร้างความรู้สึกที่แย่ลง การจบชีวิตหรือการตัดสินใจเพื่อใครนั้น ไม่ใช่ทางออกที่ดีและไม่ใช่สิ่งที่คนที่คุณรักต้องการอีกด้วย เพราะในวันที่รู้สึกว่าไม่เหลือใคร อาจยังมีใครที่ยังห่วงใยเราอยู่ ผ่านพ้นเวลาที่อ่อนล้า ด้วยจิตใจที่ไม่อ่อนแอ

อ่าน เรื่อง

“โรคซึมเศรา รับมือได้หากรู้เท่าทัน”
https://www.thereporters.co/feature/n1711222000/

Related Posts

Send this to a friend