HEALTH

สมิติเวช อัปเดตเทคโนโลยี AI เจาะลึกนวัตกรรมส่องกล้องทางเดินอาหารและตับอ่อน

สมิติเวช จับมือ โรงพยาบาลซาโน โรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านการผ่าตัดส่องกล้องจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2557 จัดประชุมวิชาการ Pancreatic Insight 2023: โดยเชิญ ศ.นพ.ยาซูชิ ซาโน และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านโรคระบบทางเดินอาหารชั้นนำ ของประเทศไทย อาทิ รศ.นพ.วรายุ ปรัชญกุล, ศ.นพ.สุพจน์ พงศ์ประสบชัย และ ผศ.นพ.ภัทรพงศ์ กมลวภรณ์ ร่วมงาน เพื่อต่อยอดพัฒนาวงการแพทย์ไทย เพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย รักษา และป้องกันก่อนเกิดโรค พร้อมกันนี้ได้อัปเดตเทคโนโลยี AI ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสามารถ การตรวจ วินิจฉัย และรักษา ได้อย่างแม่นยำและตรงจุดมากขึ้น

โดยปีที่ผ่านมาสมิติเวช มีการแลกเปลี่ยนแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ไปศึกษาดูงาน และเรียนรู้เทคนิคด้านการส่องกล้องเพิ่มเติม ณ โรงพยาบาลซาโน ประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย ให้ความไว้วางใจมากขึ้น

ศ.ดร.นพ.ยาซูชิ ซาโน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลซาโน และผู้อำนวยการสถาบันส่องกล้องระบบทางเดินอาหารจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ได้ถูกใช้เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างแพร่หลายตามคำแนะนำของแพทย์ ในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลทางสถิติที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเสียชีวิต จากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อการคัดกรองมะเร็ง จึงมีความจำเป็น ต่อการรักษาสุขภาพโดยรวม ในโลกปัจจุบัน กรุงเทพฯ ก็เป็นหนึ่งในจังหวัด ที่พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญ กับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทย ที่มีต่อการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ทำให้การส่องกล้องเป็นเรื่องปกติ ของการตรวจสุขภาพ และไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย หากเราต้องการจะดูแลสุขภาพของตนเอง”

ทั้งนี้เทคโนโลยี AI ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและตับอ่อน เป็นการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ เพื่อดูเยื่อบุด้านในของระบบทางเดินอาหาร จะเห็นภาพที่มีรายละเอียด ของผนังทางเดินอาหารทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยตับอ่อน ท่อน้ำดี และถุงน้ำดี โดยเฉพาะตับอ่อนเป็นอวัยวะ ที่อยู่ลึกภายในช่องท้อง จึงไม่สามารถพบได้ จากการตรวจร่างกายทั่วไป หากพบความผิดปกติตั้งแต่แรกเริ่ม หรือตรวจพบชิ้นเนื้อ ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อ ไปตรวจได้โดยใช้กล้องขนาดเล็ก (endoscope) คนไข้ไม่ต้องผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ลดความเสี่ยง ไร้แผล ฟื้นตัวเร็ว แพทย์หาวิธีรักษาได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประโยชน์ของการตรวจ ระบบทางเดินอาหาร โดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ คือ

1.ทำให้แพทย์เห็นภาพลักษณะ ทางเดินอาหารได้ชัดเจนมากขึ้น ใช้ในการตรวจวินิจฉัยสาเหตุ ของอาการผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นอยู่ เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ

2.ใช้ในการประเมินความผิดปกติ เช่น การเติบโตของก้อนเนื้อ ที่ตรวจพบก่อนการส่องกล้อง หรือเอกซเรย์ โดยทำให้แพทย์เห็นภาพ ของก้อนเนื้อได้ชัดเจน สามารถวินิจฉัยได้ว่า เป็นก้อนเนื้อร้ายหรือไม่

3.ใช้ในการตรวจวินิจฉัยตับอ่อน ท่อน้ำดี และถุงน้ำดี หากการตรวจด้วยวิธีอื่นแล้ว ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด

4.ช่วยให้แพทย์ทราบถึงระยะของมะเร็ง ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ ว่ามะเร็งได้กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง หรือ อวัยวะสำคัญใกล้เคียงอื่นๆ หรือไม่ เพื่อหาวิธีและการรักษาที่เหมาะสม

ทั้งนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า โรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และทำให้เสียชีวิต มากกว่ามะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย มะเร็งบางชนิดมาอย่างเงียบๆ ไม่แสดงอาการแรกเริ่มให้เห็น คือมะเร็งตับอ่อน เพราะอาการเริ่มแรก มักไม่จำเพาะเจาะจง อาจมีเพียงอาการปวดท้อง จนกว่ามะเร็งจะมีขนาดใหญ่ จนไม่สามารถผ่าตัดออกได้ หรือพบในระยะแพร่กระจายไปแล้ว กว่าจะรู้ตัวก็มักจะสายเกินไป และเนื่องจากตับอ่อนเป็นอวัยวะ ที่อยู่ลึกภายในช่องท้อง จึงไม่สามารถพบได้จากการตรวจร่างกายทั่วไป ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อน จึงน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ

Related Posts

Send this to a friend