ECONOMY

สมาคมกุ้งไทย ชี้ผลผลิตกุ้งปี 65 ไม่ตรงตามเป้า เรียกร้องพรรคการเมือง แก้ปัญหาโรคในกุ้ง

วันนี้ (14 ธ.ค. 65) นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ประกอบด้วย นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมฯ และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ ฯลฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2565 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2565 โดยรวมอยู่ที่ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังคงเผชิญปัญหาเรื่องโรค และสภาพอากาศไม่อำนวย เตรียมยื่นหนังสือเรียกร้องทุกพรรคการเมือง ที่อาสามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งที่จะมาถึง กำหนดนโยบายเรื่องกุ้งให้ชัดเจน เน้นแก้ปัญหาโรค เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้จากการส่งออก นำเงินเข้าประเทศ

นายเอกพจน์ กล่าวว่า “สถานการณ์การผลิตกุ้งของไทยปีนี้ (ปี 2565) คาดจะผลิตกุ้งได้ประมาณ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่แล้ว เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนบนร้อยละ 32 จากภาคตะวันออกร้อยละ 25 ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามันร้อยละ 21 และจากภาคกลางร้อยละ 12 ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทยร้อยละ 10 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลก คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 โดยประเทศในกลุ่มอเมริกากลาง-อเมริกาใต้ ผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปีที่แล้วและปีที่ผ่านๆมา โดยเฉพาะเอกวาดอร์ ขณะที่ประเทศทางเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม ผลิตกุ้งได้ลดลง อินเดียเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ส่วนจีนผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นหลังมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น

ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค. ปีนี้ ปริมาณ 122,208 ตัน มูลค่า 42,812 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 128,758 ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท ปริมาณลดลง ร้อยละ 5 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9 และคาดการณ์ว่า ไทยจะผลิตกุ้งได้ 300,000 ตัน ในปี 2566 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7)

“สมาคมกุ้งไทยจึงขอเสนอ ไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคในการเลือกตั้ง ที่กำลังจะมาถึงในปีหน้า ให้เห็นความสำคัญ ของอุตสาหกรรมกุ้งไทย ที่เคยเป็นอุตสาหกรรมอันดับหนึ่ง ทำรายได้เข้าประเทศปีละเกือบแสนล้าน มีผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งทางตรงทางอ้อมและครอบครัวกว่า 1 ล้านคน แต่ 10 กว่าปี หลังเกิดโรคระบาดในกุ้ง อุตสาหกรรมกุ้งไทย สูญเสียโอกาส-รายได้จากการส่งออกถึง 500,000 ล้านบาท ดังนั้นพรรคการเมือง ที่จะมาเป็นรัฐบาลหน้า จะต้องกำหนดเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อแก้ปัญหาโดยเฉพาะโรคกุ้ง พลิกฟื้น พัฒนาสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละเกือบแสนล้าน/กว่าแสนล้านบาทให้ได้ เพื่อเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก ที่ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย เหมือนที่เป็นมาก่อนเผชิญปัญหาโรคระบาดให้ได้”

ด้าน นายปกครอง กล่าวว่า “สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่าง ฝั่งอันดามัน ผลผลิตปี 2565 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 58,200 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 2 พบการเสียหายโรคตัวแดงดวงขาว จำนวนมากในช่วงต้นปี และเชื้ออีเอชพีและโรคขี้ขาว ยังเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้เกษตรกรจับกุ้งก่อนกำหนด เกษตรกรบางส่วนที่เลี้ยงกุ้งขาวไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ตรัง กระบี่ พังงา และภูเก็ต เปลี่ยนไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น”

ขณะที่ นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งปี 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออก ประมาณ 69,900 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 12 โดยสภาวะอากาศแปรปรวนในช่วงต้นปี ส่งผลให้เกิดความเสียหาย จากโรคตัวแดงดวงขาว และฝนที่มาเร็วกว่าปกติและตกหนัก ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยง บางพื้นที่เกิดน้ำท่วม และหลังน้ำลดเกิดปัญหาโรคระบาดหัวเหลือง และตัวแดงดวงขาวตามมา เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีความเต็มต่ำ คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม นอกจากนี้พบอาการขี้ขาวในบ่อกุ้งระหว่างเลี้ยง ทำให้ต้องจับกุ้งก่อนกำหนด ผลผลิตต่อไร่ต่ำ

ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 34,100 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคากุ้งดี สภาพอการแปรปรวนช่วงต้นปี ส่งผลให้เกิดโรคหัวเหลืองและตัวแดงดวงขาว รวมถึงปัญหาขี้ขาวทำให้เกษตรกร จับกุ้งก่อนกำหนด นอกจากนี้ปัจจัยการผลิตราคาปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น

นายพิชญพันธุ์ สลิลปราโมทย์ กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งปี 2565 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ประมาณ 89,402 ตัน ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา โดยช่วงต้นปีเกษตรกรลงกุ้ง อย่างต่อเนื่องเนื่องจากราคากุ้งดี ช่วงต้นปีพบความเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาว สภาพอากาศที่แปรปรวน และปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความเสียหายจากโรคขี้ขาว ทำให้เกษตรกรบางส่วนหันไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำ”

นายปรีชา สุขเกษม กรรมการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 28,400 ตัน ลดลงร้อยละ 21 อีเอชพีและขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปี ทำให้ผลผลิตลดลงมาก และเกษตรกรต้องจับกุ้งก่อนกำหนด ตัวแดงดวงขาว ระบาดรุนแรงในช่วงต้นปี ฝนที่ตกหนักส่งผลให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีความเค็มต่ำ ทำให้การเลี้ยงประสบปัญหามากกว่าทุกปี เกษตรกรต้องปรับตัวโดยการพักบ่อนานขึ้น ทยอยการปล่อยกุ้ง และลดความหนาแน่นในการเลี้ยง เพื่อลดความเสี่ยง”

Related Posts

Send this to a friend