ECONOMY

ครม. เคาะแผนลดต้นทุนขนส่ง 5% ผ่าน 5 แนวทาง ตั้งเป้าให้ไทยเป็นประตูการค้าอาเซียน

วันนี้ (14 ธ.ค. 65) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ปี 66-70 เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นประตูการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยขับเคลื่อนผ่าน 5 แนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์

มีเป้าหมาย คือ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าต่อจีดีพี ลดลงเหลือ 5% ต่อปี จากปี 64 อยู่ที่ 6.4% , ลดต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังต่อจีดีพี ลดลงเหลือ 5% ต่อปี จากปี 64 อยู่ที่ 6.4% และ ทำอันดับดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ด้านพิธีการศุลกากร อยู่ในอันดับ 25 หรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 3.20 จากปี 61 อยู่อันดับที่ 31 มีคะแนนอยู่ที่ 3.14 คะแนน

สำหรับ 5 แนวทาง ประกอบด้วย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างท่าเรือ รถไฟ ถนน และท่าอากาศยาน พัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์ บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล , ยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าโซ่อุปทาน เช่น พัฒนาการบริหารจัดกรโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร , พัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการเติบโตของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาพิธีการศุลกากร กระบวนการนำเข้า-ส่งออกที่เกี่ยวข้อง และการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังพัฒนาศักยภาพเสริมสร้างศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยสู่เวทีสากล และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการติดตามผลด้านโลจิสติกส์ เช่น ส่งเสริมการวิจัยและนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัยภายในประเทศ , ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนากิจกรรมโลจิสติกส์ , พัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และติดตามและประเมินผลการพัฒนาด้านโลจิสติกส์

“สำหรับสถานการณ์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในภาพรวม ปี 2564 ไทยมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี คิดเป็นสัดส่วน 13.8% ต่อจีดีพี ลดลงจากสัดส่วนปีก่อนหน้าที่ 14.0% ต่อจีดีพี ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศ และแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนในปี 65 ต้นทุนโลจิสติกส์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยจะปรับลดลงอยู่ที่ 12.9-13.3% ต่อจีดีพี” น.ส.รัชดา กล่าว

Related Posts

Send this to a friend