ผจก.ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุ ชี้ อุบัติเหตุบนทางม้าลาย โทษต้องรุนแรง การบังคับใช้กฎหมายต้องเด็ดขาด

วันนี้ (24 ม.ค 65) ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ The Reporters กรณีที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผอ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กก.อารักขา1 บก.อคฝ ขับรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ผู้ชำชาญการด้านจักษุวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ เป็นเหตุให้เสียชีวิต
ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางม้าลายสะท้อนให้เห็นปัญหาถึงตัวบุคคล และในเชิงระบบด้วยเช่นเดียวกัน พฤติกรรมของคนที่ไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อยมาก เป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายและยอมรับไม่ได้ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักจะไม่ชะลอหรือหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ซึ่งจริงๆแล้วควรจะต้องหาทางแก้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตรงนี้ด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากขับรถไปชนคนในขณะข้ามทางม้าลาย เป็นพฤติกรรมที่ยิ่งยอมรับไม่ได้ เหมือนกับเป็นการผ่าไฟแดงและไปชนรถคนอื่น บทลงโทษต่างๆมันต้องรุนแรงเทียบเท่ากับการขับรถผ่าไฟแดงแล้วไปชนคน ซึ่งบทลงโทษมันควรจะเท่ากัน ซึ่งอาจจะต้องใช้กระแสสังคมเข้ามาช่วยในการปรับพฤติกรรมของคนในรูปแบบนี้
การบังคับใช้กฎหมาย เห็นว่ากฎหมายในไทยนั้นถือว่าอ่อนมาก ซึ่งเห็นว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้เกิดขึ้น ซึ่งมันผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มีการจับกุมกันเกิดขึ้น บทลงโทษด้วยเช่นกัน เมื่อมีการเกิดอุบัติขับรถชนคนบนทางม้าลาย บทลงโทษจะต้องรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของการยอมความ ซึ่งเคสนี้ไม่ใช่เคสแรก ซึ่งสุดท้ายคนขับที่ชนคนอื่นไม่ต้องได้รับบทลงโทษใดๆ เพราะฉะนั้นบทลงโทษควรจะให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
คนขับรถยนต์และคนขี่รถมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องของทักษะในการคาดการณ์อุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น หรือคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นบนท้องถนน อย่างเคสที่มอเตอร์ไซค์ขับรถไปชนคุณหมอ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมากว่าไม่มีการคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเลย เพราะว่าเขาขับมาเจอทางม้าลายแล้ว ถ้าสังเกตจะมีรถตู้ทางด้ายซ้ายที่ชะลอ ซึ่งทางตัวคนขับมอเตอร์ไซค์ควรจะคาดการณ์ได้แล้วว่าจะต้องมีคนข้ามถนนทางม้าลายมาแน่ๆ แต่ด้วยพฤติกรรมหรือการขาดทักษะในการขับขี่ที่ไม่มีการประเมินความเสี่ยงรอบด้านก็ทำให้เขาไม่สนใจและขับพุ่งไปเลยจนเกิดอุบัติเหตุอย่างที่เห็น ซึ่งในไทยมีการอบรมในเรื่องนี้น้อยมาก ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีการอบรมทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ ซึ่งในไทยไม่ได้มีการเน้นอบรมในเรื่องนี้มากนัก
การจัดการความเร็วในเขตพื้นที่ที่เป็นชุมชนหรือเขตเมือง ซึ่งในเคสที่เกิดขึ้นคือเกิดในเขตเมือง ซึ่งกฎหมายมีการบอกเอาไว้แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ว่าในเขตเมืองใช้ความเร็วสำหรับมอเตอร์ไซค์ไม่เกิน 60 กม./ชม. บิ๊กไบค์ไม่เกิน 80 กม./ชม และรถยนต์ไม่เกิน 80 กม./ชม. ซึ่งใน 80 กม./ชม. สำหรับบิ๊กไบค์ถือเป็นความเร็วที่สูงมาก ซึ่งคนเดินถนนมีความทนทานในการถูกชนแค่ประมาณ 40 กม./ชม. ก็ถือว่ามีโอกาสเสียชีวิตแล้ว แต่ถ้าหากมีการอนุญาตให้ใช้ความเร็วถึง 80 กม./ชม. แล้วถูกชนขึ้นมาถือว่าโอกาสเสียชีวิตคือเกือบ 100% ดังนั้นการขัดการความเร็วก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก
ทางศูนย์วิจัยอุบัติเหตุได้มีการรวบรวมสถิติของผู้เสียชีวิตที่เป็นคนเดินเท้าในกรุงเทพฯ พบว่า 10% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นกลุ่มคนเดินเท้า คาดว่าน่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างแน่นอน ซึ่งคนเดินเท้าอาจจะถูกชนและมีการยอมความและไม่ได้มีข้อมูลเข้าไปในระบบ หรืออาจจะถูกชนแล้วหนี ซึ่งตัวเลขจริงอาจจะมากกว่านี้แน่นอน แต่ที่เห็นในระบบคือประมาณ 10%
นอกจากนี้ทางม้าลายที่ต้องข้ามถนนหลายเลนหรือถนนกว้างๆ มีความเสี่ยงสูงมาก ถ้าเป็นทางม้าลายใดๆก็ตามที่เป็นการข้ามถนน 4-8 เลน มีความอันตรายสูง รถก็จะใช้ความเร็วสูง พฤติกรรมคนไทยไม่หยุดรถ ไม่ชะลอรถให้คนข้าม ซึ่งเป็นความเสี่ยงสูงมากในการข้ามถนนในประเทศไทย
ในเรื่องของสัญญาณไฟข้ามถนนตามหลักวิศวกรรม ก็จะมีการใช้เหมือนเป็นเหตุอันควร จุดไหนควรจะติด ดังนั้นจุดที่ติดก็อาจจะเป็นจุดที่มีปริมาณคนข้ามถนนเยอะและมีความเสี่ยงจริงๆ ก็สมควรที่จะต้องติด แต่อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องติดทุกจุด ทำเส้นจราจรบริเวณทางม้าลายให้ชัดเจน ทำทางข้ามให้สั้นลง โดยใช้เกาะกลางในการช่วย ก็ทำให้มีความปลอดภัยในการข้ามมากขึ้น
ดังนั้นการออกแบบทางม้าลายให้ปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องติดสัญญาณไฟจราจรทุกจุด แต่มันมีรูปแบบทางด้านวิศวกรรมที่ปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของทางข้ามม้าลายให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น