CRIME

AIS ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กสทช. ขยายผลจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมกัน 5 จุดทั่วกรุงเทพฯ

พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ แถลงผลการตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 5 จุด ทั่วกรุงเทพฯ หลังพบข้อมูลว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ย้ายฐานปฎิบัติการเข้ามาตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนหลายแห่งโดยใช้เครื่องมือวิทยุโทรคมนาคมผิดกฎหมายเพื่อโทรและส่งข้อความหลอกลวง โดยผลจากปฏิบัติการในครั้งนี้ สามารถตรวจยึดอุปกรณ์โทรคมนาคมผิดกฎหมายได้เป็นจำนวนมาก

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. กล่าวว่า สอท.ประสานการปฎิบัติงานร่วมกับ กสทช. หลังพบข้อมูลว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ ทำให้มีประชาชนตกเป็นเหยื่อเป็นจำนวนมาก จึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายค้นจากศาลจนนำมาสู่การปฎิบัติการเข้าค้นพร้อมกัน 5 จุด โดยมีรายละเอียดดังนี้

จุดที่ 1 พบซิมบ๊อกซ์แบบ 32 ซิม จำนวน 2 เครื่อง พร้อมซิมการ์ด 64 ซิม และ Wifi Router

จุดที่ 2 พบซิมบ๊อกซ์ ไม่มีตราอักษร จำนวน 2 เครื่อง พร้อมซิมการ์ด 64 ซิม

จุดที่ 3 พบซิมบ๊อก ip-pbx 2 เครื่อง พร้อมซิมการ์ด 64 ซิม และ Wifi Router

จุดที่ 4 พบซิมบ๊อก ไม่มีตราอักษรและรุ่น แบบ 32 ซิม จำนวน 2 เครื่อง พร้อมซิมการ์ด 64 ซิม และ Wifi Router

จุด5 พบซิมบ๊อก ไม่มีตราอักษรและรุ่น จำนวน 2 เครื่อง พร้อมซิมการ์ด 62 ชิม

สำหรับเครื่อง GSM Gateways หรือซิมบ๊อก (Simbox) เป็นอุปกรณ์ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้โทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้วแปลงเป็นสัญญาณโทรศัพท์เพื่อโทรออกไปหลอกลวงหรือข่มขู่ผู้เสียหาย ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เป็นความผิด ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ฐาน “ใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนโดยบุคคลอื่นบุคคลใดไม่ชอบ” และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ

พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวว่า สาเหตุที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์หันมาใช้ซิมบ๊อก เนื่องจาก ที่ผ่านมาได้มีการจับกุมและตรวจยึดสถานีโทรคมนาคมผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างหนัก ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีฐานปฎิบัติการตามแนวชายแดนบางส่วนย้ายเข้ามาตั้งฐานในประเทศและใช้เครื่องดังกล่าวแทน ซึ่งแต่เดิมแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะใช้วิธีเช่าบ้านแล้วตั้งเราเตอร์เพื่อต่อกับซิมบ๊อค ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจจับจากจำนวนการใช้งานที่ผิดปกติ

ครั้งนี้ พบว่า เป็นลักษณะของการใช้พื้นที่ในอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ แล้วใช้เราเตอร์ของอาคาร ทำให้กลืนไปกับปริมาณการใช้งานของอาคาร เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตรวจจับได้ยากขึ้น นอกจากนี้การเข้ามาตั้ง SIM BOX ในลักษณะนี้ทำให้หมายเลขการโทรแสดงเป็นหมายเลขภายในประเทศ เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการขึ้นหมายเลขหน้าเบอร์โทร Prefix ของ กสทช.ที่เคยกำหนดไว้ และทำให้ประชาชนหลงเชื่อได้ง่ายขึ้น

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “จากกรณีการเกิดอาชญากรรมจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ และมีประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ส่งผลกระทบตั้งแต่การสูญเสียทรัพย์สิน ไปจนถึงสภาพจิตใจ ดังนั้น AIS จึงให้ความสำคัญอย่างมากในการดูแล ปกป้อง ความปลอดภัยของลูกค้าและประชาชน ที่ผ่านมาจึงทำงานร่วมกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจไซเบอร์ และ กสทช. ตั้งทีมประสานงาน ตรวจสอบ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากการที่ประชาชนแจ้งความร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแจ้งผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพ ตลอด 24 ชั่วโมง จนสามารถนำไปสู่การขยายผล จับกุม คนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง”

ซึ่งปัจจุบันนอกจากมิจฉาชีพจะใช้กลอุบายในการโทรหลอกลวงเช่นในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ยังมีการหาข้อมูลเกี่ยวกับเหยื่อที่จะโทรหลอกลวงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการหลงเชื่อ สูญเสียทรัพย์สิน หรือ กระทำการข่มขู่ทวงหนี้ทำให้เกิดความหวาดกลัว ผ่านการใช้อุปกรณ์ SIM BOX เครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์แบบใส่ซิมการ์ด ที่เป็นการลักลอบใช้เป็นช่องทางการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงประชาชนบุคคลทั่วไปภายในประเทศ ซึ่งทาง AIS ได้ร่วมส่วนหนึ่งของภารกิจในการติดตามและตรวจสอบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น จนสามารถทราบถึงต้นตอหรือแหล่งกบดานของคนร้าย ซึ่งนำสู่การบุกทลายแก๊งมิจฉาชีพกลุ่มนี้ได้สำเร็จ”

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat