‘ชัชชาติ’ เผย เร่งทำโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม.ให้จบในปีหน้า

‘ชัชชาติ’ เผย เร่งทำโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม.ครั้งที่ 4 ให้จบภายในปีหน้า ย้ำต้องวางแผนถนนให้สอดคล้องกับผังเมืองด้วย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมติดตามปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ณ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เขตดินแดง วันนี้ (28 พ.ย. 65) โดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องผังเมืองรวมว่า ปัจจุบันต้องมีการทบทวนใหม่เพราะว่า มีการแก้ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ทำให้ผังเมืองแนบท้ายมีปัญหา เพราะว่าทำประชาพิจารณ์ไม่ครบต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่จะปรับแก้ เพราะมองว่าผังเมืองต้องเป็นตัวที่ตอบโจทย์เมืองในปัจจุบัน ผังเมืองที่ผ่านมาคล้ายกับว่าเป็นตัวกำหนดว่าสร้างสูงสุดได้แค่ไหนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดราคาที่ดิน
ดังนั้นในอนาคต ผังเมืองต้องบอกความน่าจะเป็นของเมืองด้วย อาจจะอยู่ในรูปของการให้โบนัสเมือง ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับนโยบาย เช่น อยากให้มีที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อยในเมือง จะทำอย่างไรให้เขามีโอกาสหาที่อยู่ได้ไม่แพง หรือแม้กระทั่งหาบเร่แผงลอย เราอยากทำ Hawker Centres ในเมือง เป็นไปได้หรือไม่ตึกไหนมี Hawker Centres ก็ให้เป็นโบนัสไป หรือเป็นข้อกำหนดเลยว่าอาจจะมีที่สำหรับทานอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองด้วย นี่คือสิ่งที่เราจะต้องปรับปรุง
ดังนั้น โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ในครั้งที่ 4 ให้ทันสมัย เป็นสิ่งที่เราจะต้องเร่งทำ สุดท้ายแล้วต้องผ่านอีกหลายกระบวนการ ซึ่งจะต้องทำให้จบภายในปีหน้าให้ได้
ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของผังเมืองรวมก็คือ จะมีแผนถนนแนบท้าย แต่แผนถนนมีหลายสิบเส้นที่ไม่ได้ดำเนินการตามแผน กลายเป็นว่าเราเปลี่ยนสีเมืองไปก่อน แต่ถนนเราไม่ได้ทำตาม ทำให้หลายคนโดนริดรอนสิทธิด้วยซ้ำ เพราะว่ามีแนวถนนอยู่แล้วการก่อสร้างทำได้ยากขึ้น เนื่องจากอยู่ในแนวเวนคืน ต้องปรับสำนักอื่นในการวางแผนถนนให้สอดคล้องกับผังเมืองด้วย เช่น ต้องทำถนนผังเมืองให้มากที่สุดตามแนวผังเมือง เพราะว่ามันคือไกด์ไลน์
ฉะนั้น ต้องมีการประสานกับสำนักการโยธาเรื่องการสร้างถนนตามผังเมืองให้สอดคล้องกัน มีข้อบัญญัติเรื่องผังเมืองจำนวนมากที่ล้าสมัย ก็ต้องปรับปรุง ปัจจุบันมีการยกเลิก 11 ฉบับ ก็ปรับปรุงเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับโจทย์คน เช่น แถวลาดกระบังมีการนำพื้นที่มาวางตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้ควบคุมเพราะเขาไม่ได้สร้างสิ่งปลูกสร้าง แต่ปรากฏว่ามันส่งกระทบกับวิถีชีวิตคนแถวนั้น กรณีนี้กฎหมายผังเมืองจะทำให้ทันสมัยได้อย่างไร เรื่องคลังสินค้าซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วกฎหมายผังเมืองอาจจะตามตรงนี้ไม่ทัน ผังเมืองก็จะปรับตรงนี้ให้ทันกับความต้องการของเมืองด้วย
สำหรับนโยบายเกี่ยวกับผังเมืองมีอยู่ 2 เรื่อง คือ การทำผังเมืองพิเศษเฉพาะเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายของเมืองไปทิศทางที่เราต้องการ ซึ่งตรงนี้เรามอง 2 จุด คือ เขตลาดกระบังกับเขตบางขุนเทียน ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการหาที่ปรึกษา อาวุธอีก 2 อย่างที่เราไม่ได้ใช้ คือ การจัดรูปที่ดิน กับทำผังเมืองเฉพาะ ซึ่งจะสอดคล้องกับที่จะดำเนินการที่ลาดกระบังกับบางขุนเทียน ว่าเราสามารถนำแนวทางจัดรูปที่ดินมาใช้ได้หรือไม่ การจัดรูปที่ดินคือการนำที่ดินแต่ละแปลงมารวมกัน และวางผังใหม่ โดยเจ้าของเดิมก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าตรงนี้ทำสวนแต่คนทำสวนไม่ได้ประโยชน์เลยไม่มีมูลค่า คนทำที่อยู่อาศัยได้ประโยชน์เยอะ เอาทั้งหมดมารวมเป็นแปลงเดียวกันและเฉลี่ยผลประโยชน์ ทำให้ที่ดินแปลงใหญ่มีสิ่งต่าง ๆ ครบถ้วนได้ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“ผังเมืองต้องเป็นหัวใจที่รวมข้อมูลของเมือง ในแง่ของข้อมูลที่เป็นดิจิตอล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในอนาคตผังเมืองต้องมีหน้าที่ในการสร้างประสิทธิภาพให้เมือง ถ้าเรามีฐานข้อมูลให้ชัดเลยว่า ตึกอยู่ตรงไหน ความสูงเท่าไร ความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร เอกชน ประชาชน สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปขยายผลต่อได้ ไม่ต้องทำข้อมูลใหม่ หน้าที่ของผังเมือง คือ ต้องสร้างประสิทธิภาพให้เมือง โดยต้องทำฐานข้อมูลให้พร้อม นโยบายของผังเมืองอนาคต ต้องเปิดทุกข้อมูล ยกเว้นที่จำเป็นต้องปิด ที่ผ่านมาปิดทุกข้อมูลยกเว้นที่จำเป็นต้องเปิด เราจะเปลี่ยนแนวใหม่ เป็น Open Data เพื่อนำข้อมูลนี้ไปพัฒนาประสิทธิภาพของเมืองให้ได้ วันนี้เป็นโอกาสดี เป็นความสำคัญที่เราจะให้กับผังเมือง ถ้ามีข้อมูลที่ดี เป็น Open Data ผมเชื่อว่าเอกชน ประชาชนจะนำข้อมูลนี้ไปพัฒนาได้ดีขึ้น”