BANGKOK

กทม.จับมือกรมควบคุมโรค ขับเคลื่อนปฏิบัติการลดบริโภคเกลือและโซเดียมใน กทม.

วันนี้ (26 ต.ค.66) เวลา 08.45 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในกรุงเทพมหานคร โดยมี นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมวิภาวดี บอลรูม โรงแรมปริ๊นส์ตัน เขตดินแดง

จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ.2561–2562 และการสำรวจปริมาณการบริโภคโซเดียมของคนไทย พบว่า ร้อยละ 67 บริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึง 1.5–2 เท่า ซึ่งการบริโภคเกลือและโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อที่สัมพันธ์กับการบริโภคอาหารรสเค็ม 22.05 ล้านคน และมีแนวโน้มความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อจากการบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเป้าหมายการลดค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือและโซเดียมลงร้อยละ 30 เป็น 1 ใน 9 ตัวชี้วัดของการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับโลก อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานเฝ้าระวังการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการป้องกันโรคไม่ติดต่อระดับโลก

กรมควบคุมโรค โดยกองโรคไม่ติดต่อ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมประเทศไทย พ.ศ.2559-2568 จัดทำมาตรการการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงานเฝ้าระวังการบริโภคเกลือ และโซเดียมของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครยังไม่มีข้อมูลการบริโภคโซเดียมของประชาชนในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญต่อการวางแผนในการป้องกันและควบคุมการก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประชาชน ขอให้ผู้เข้าร่วมอบรมร่วมกันดำเนินการสำรวจอาหารในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในกรุงเทพมหานครสำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป

Related Posts

Send this to a friend