BANGKOK

‘ชัชชาติ’ ต้อนรับ 9 คนพิการเข้ารับราชการ เล็งเปิดรับคนพิการมากขึ้น โดยเฉพาะครู

‘ชัชชาติ’ ต้อนรับ 9 คนพิการเข้ารับราชการ ร่วมทำงานรับใช้ประชาชน เล็งเปิดรับคนพิการมากขึ้น โดยเฉพาะครู

วันนี้ (26 พ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับข้าราชการบรรจุใหม่ซึ่งเป็นคนพิการที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2565 ว่า วันนี้มีความยินดีที่ได้ต้อนรับเพื่อนใหม่ ขอแสดงความยินดีกับทุกคน ขอยืนยันว่าทุกคนไม่ได้ถูกรับเลือกเพราะว่าเป็นคนพิการ แต่เป็นเพราะมีความสามารถเหมือนคนทั่วไป มีการแข่งขันเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าการที่ทุกคนได้มาทำงานใน กทม. จะทำได้อย่างเต็มศักดิ์ศรี ทำให้เพื่อน ๆ ใน กทม. เข้าใจชีวิตของคนที่แตกต่างได้มากขึ้น

กทม.มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เรื่องการเดิน การได้ยิน การเคลื่อนไหว ถ้าเราสามารถโอบกอดทุกคนที่มีความแตกต่างกันได้ สังคมก็จะดีขึ้น เหมือนกับนโยบายเราที่ให้ไว้ว่า “กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ไม่เฉพาะคนที่เดินได้ คนที่ได้ยินปกติ หรือว่าคนที่มองเห็นปกติ แต่ทุกคนต้องสามารถอยู่ด้วยกันได้ การที่ในวันนี้มีทุกคนมาเป็นทีมงาน จะเป็นเครื่องเตือนใจว่าเรามีเพื่อนที่มีความแตกต่างกับเราอีกเยอะ ฉะนั้นเราต้องคิดถึงเพื่อน ๆ เราเหล่านี้ด้วย

Mindset ในโลกมี 2 แบบ คือ Fixed mindset และ Growth mindset โดย Fixed mindset คือคนที่เชื่อในโชคชะตา เชื่อในบุพเพสันนิวาส เชื่อว่าทุกอย่างถูกฟ้ากำหนดมาแล้ว เช่น หลายคนที่เป็นเหมือนพวกเราทุกคนอาจจะคิดท้อใจหรือโทษชะตาชีวิตว่า ชีวิตกำหนดให้เราเดินไม่ได้ ให้เกิดอุบัติเหตุ ให้เกิดมามีร่างกายไม่ครบ แล้วก็อาจจะท้อถอย ไม่อยากทำอะไร แต่ทุกคนที่มาในวันนี้เป็นตัวอย่างของคนที่มี Growth mindset คือไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ทุกอย่างคือสิ่งที่เราทำได้ถ้าเราพยายาม

มีคำพูดอีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากพวกเราทุกคน เป็นบทกวีชื่อ “Invictus” หรือ “ผู้ไม่ยอมสยบ” ของวิลเลียม เออร์เนส เฮนเล่ย์ เป็นบทกวีที่อดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนแดลา ประทับใจมาก และนำมาใช้ให้กำลังใจตนเองในระหว่างต้องโทษจำคุก โดยในกระดาษที่เขาอ่านทุกเช้าเป็นภาษาอังกฤษว่า “I am the master of my fate. I am the captain of my soul.” เราคือเจ้านายแห่งชะตาชีวิต และเราคือกัปตันแห่งจิตวิญญาณของตนเอง ถึงแม้ว่าจะมีข้อที่ข้อจำกัดที่เราเลือกไม่ได้ แต่สุดท้ายเราก็เป็นเจ้านายชะตาชีวิตตัวเอง

ขอให้เรามาเป็นเพื่อนใหม่กัน มาร่วมงานกัน ขอให้ทุกคนคิดถึงศักดิ์ศรีของชาว กทม. ร่วมกันทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนให้ดีที่สุดและร่วมกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ต้องขอขอบคุณพวกเราทุก ๆ คนที่โอบกอดเพื่อนใหม่ของเราด้วยความอบอุ่น

นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ดีใจที่สังคมเปิดรับคนพิการ ตนเองประสบอุบัติเหตุมาตั้งแต่ปี 2525 การที่ได้ต่อสู้มา ทำงานด้านคนพิการมาเพราะอยากเห็นวันนี้ ยิ่งกว่านั้นการที่เราได้ผู้ว่าฯ กทม.ที่เข้าใจคนพิการ ได้ทีมผู้บริหารที่เข้าใจคนพิการ ก็จะส่งผลให้กับข้าราชการกรุงเทพมหานครทุกคนเข้าใจคนพิการ อยากจะฝากน้อง ๆ ว่า การมาทำงาน กทม. คืองานบริการรับใช้ประชาชน แม้อาจจะไม่ได้เจอประชาชนโดยตรง แต่ผลงานทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังก็เพื่อให้ชีวิตคนกรุงเทพมหานครดีขึ้น น้อง ๆ คือผู้บุกเบิก ที่จะทำให้เพื่อน ๆ คนพิการอื่น ๆ ได้เห็นและเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง ก้าวเข้ามาเป็นข้าราชการเพิ่มมากขึ้น

โดยนายภาณุวัฒน์ ผลาเลิศ นักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ ฝ่ายพัสดุ กลุ่มภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ เป็นตัวแทนข้าราชการบรรจุใหม่ กล่าวกับผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหารว่า ในฐานะตัวแทนของคนพิการ ขอกราบขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. และคณะ พวกเรารู้สึกอบอุ่นตั้งแต่วันแรกที่ลงสนามสอบ พวกเราได้รับการดูแลตามประเภทความพิการอย่างดี ขอบคุณที่เล็งเห็นศักยภาพของคนพิการว่า พวกเรามีศักยภาพที่จะสามารถทำงานได้และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานต่อไป ในฐานะของคนพิการที่ได้รับโอกาสขอให้สัญญาว่าพวกเราจะมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนต่อไป

สำหรับการดำเนินการคัดเลือกคนพิการเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2565 มีผู้สมัครสอบ 585 คน ผ่านการคัดเลือก 9 คน แบ่งเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จำนวน 7 คน และคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 2 คน ซึ่งจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ในวันที่ 26 พ.ค.66 ในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร 3 คน
สำนักการแพทย์ 2 คน
สำนักการศึกษา 1 คน
สำนักพัฒนาสังคม 1 คน
สำนักอนามัย 1 คน
สำนักงานการเจ้าหน้าที่ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 1 คน

นายชัชชาติ กล่าวภายหลังกิจกรรมต้อนรับถึงสิ่งที่ กทม.ทำเพื่อดูแลคนพิการ ประกอบด้วย การเดินทาง ปรับทางเท้าและห้องน้ำให้เป็น Universal Design การฝึกอาชีพให้คนพิการ การบรรจุคนพิการ ทั้งในรูปแบบของลูกจ้าง อาสาสมัคร และข้าราชการ เพื่อให้เห็นว่าคนพิการที่ทำงานได้ยังมี และเป็นแรงบันดาลใจให้คนพิการรายอื่น และเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่น และ การให้คำปรึกษา-ให้บริการด้านสาธารณสุขแก่คนพิการอย่างทั่วถึง

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ปีต่อไป เราตั้งใจจะรับคนพิการให้มากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้ดูแลเรื่องของสัดส่วน มีกรรมการที่กำหนดสัดส่วนให้มีความเหมาะสม เรายังพยายามดูแลเรื่องกายภาพ สภาพในการทำงาน และจะขยายไปในกลุ่มของครู เพื่อให้คนสอนได้เข้าใจมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจแล้วก็จะทำให้สามารถไปดูแลน้อง ๆ นักเรียนได้ดีขึ้นด้วย

Related Posts

Send this to a friend