BANGKOK

กทม.เปิดรับความคิดเห็นร่างระเบียบการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย 7 ฉบับ

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนถึงร่างระเบียบและประกาศกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ฉบับ

กรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2547 ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการออกระเบียบหรือประกาศกรุงเทพมหานครเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ขณะที่ปัจจุบันกรุงเทพมหานครใช้งบประมาณบำบัดน้ำเสียไม่น้อยกว่าปีละ 600 ล้านบาท ดังนั้น การเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียจะช่วยลดรายจ่าย สอดคล้องกับหลักการ ‘Polluter Pay Principle’ หรือหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ลดต้นทุนจัดการมลพิษของเมืองและปริมาณของมลพิษที่เกิดขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบและประกาศทั้ง 7 ฉบับของกรุงเทพมหานคร จะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียแก่ 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ได้แก่ แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 (ก) คือ หน่วยงานรัฐหรืออาคารที่ทำการของเอกชนหรือองค์กรระหว่างประเทศ และแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 (จ) ประกอบด้วย สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี มีการใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 ประกอบด้วย โรงแรม โรงงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำย้อนหลังเฉลี่ยมากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตร

อัตราค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียจะแบ่งตามประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสีย โดยแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 จะมีอัตราค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียที่ 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 มีค่าธรรมเนียมที่ 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร โดยคำนวณหาปริมาณน้ำเสียจากร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำประปาหรือน้ำจากแหล่งน้ำอื่น และจะจัดเก็บเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในระยะการให้บริการของโรงบำบัดน้ำเสียเท่านั้น

“หากค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียนี้สามารถจัดเก็บได้สำเร็จ ผู้ก่อให้เกิดน้ำเสียจะมีส่วนร่วมในการรับภาระในการบำบัดน้ำเสียมากยิ่งขึ้นนั้นเอง นอกจากนี้กรุงเทพมหานครไม่มีการบังคับจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียแก่ภาคครัวเรือน จะมีเพียงแต่กรณีภาคครัวเรือนสมัครใจเชื่อมต่อท่อสู่โรงบำบัดน้ำเสียเท่านั้น” นายเอกวรัญญู กล่าว

Related Posts

Send this to a friend