DEEPSOUTH

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ พร้อมส่งต่อรัฐบาลใหม่ รับต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้า

‘พล.อ.วัลลภ’ นำทีมคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ แถลงผลงานพร้อมส่งต่อรัฐบาลใหม่ รับต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าแต่โครงสร้างยังเหมือนเดิม พร้อมยกเลิกกฎหมายพิเศษ ทหารถอนกำลังตามสถานการณ์ และกรอบการพูดคุยยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ระหว่างนี้การพูดคุยกับ BRN หยุดชะงักไปก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

วันนี้ (26 พ.ค. 66) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ

พล.อ.วัลลภ เปิดเผยว่า ในระหว่างรอรัฐบาลชุดใหม่ กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กับ ขบวนการ BRN คงต้องหยุดชะงักไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนคณะพูดคุยฯ โดยเฉพาะตนเองได้รับการแต่งตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ของตนเอง และคณะ ก็จะสิ้นสุดลงเช่นกัน จนกว่ารัฐบาลใหม่จะแต่งตั้งคณะพูดคุยชุดใหม่ แต่ยังเป็นไปตามโครงสร้าง ที่มีสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือ สมช. เป็นเลขานุการ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ชี้แจงภารกิจความคืบหน้าที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้ดำเนินการ 3 ปี 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหายาวนานและเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล พื้นที่ จชต.ใน 3 จังหวัด 4 อำเภอ มีอัตลักษณ์มลายู นับถือศาสนาอิสลาม 80 เปอร์เซ็นต์ ปัญหามาจากคนบางกลุ่มใช้ความแตกต่างให้เกิดความแตกแยก เป้าหมายแบ่งแยกดินแดน โดยความรุนแรงรอบใหม่ เริ่มขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 การดำเนินงานที่ผ่านมามี 3 แนวทาง คือ

1.แนวทางความมั่นคง ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างปกติสุข

2.การพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ให้อยู่ร่วมกันได้ภายในพหุวัฒนธรรม โดยมี ศอ.บต. เป็นฝ่ายดำเนินการ

3.การพูดคุยเพื่อสันติสุข ร่วมกันหาทางออก เปิดการพูดคุย เปลี่ยนการต่อสู้จากความรุนแรงมาสันติวิธี แก้ปัญหารากเหง้า โดยมี สมช.รับผิดชอบ

พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า ผลสำเร็จที่ผ่านมา พบว่าความรุนแรงเริ่มลดลง จาก 1,000 เหตุการณ์ต่อปี ปัจจุบันเหลือ 100 ครั้งต่อปี แต่ยังคงมีอยู่ ปรับเปลี่ยนเป้าหมายไปที่ จนท.ของรัฐมากขึ้น และประชาชนตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมปฏิเสธความรุนแรง โดยในการเข้ารับตำแหน่งของ พล.อ.วัลลลภ ได้เริ่มพูดคุยกับ ขบวนการ BRN ตั้งแต่เดือน มกราคม 2563 และมีพัฒนาการต่อเนื่อง จนมาถึงล่าสุดคือการเห็นชอบกรอบข้อตกลง JCPP เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 มีกรอบที่ตั้งเป้าให้บรรลุข้อตกลงภายในเดือน ธ.ค.2567 ซึ่งยอมรับว่าอาจมีอุปสรรค ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ที่อาจทำให้เป้าหมาย JCPP หยุดชะงักบ้างแต่อยากให้เกิดขึ้นตามกรอบเวลา และหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะเดินตามกรอบข้อตกลงนี้

ส่วนกรณีรัฐบาลใหม่ที่อาจเป็นรัฐบาลพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมรัฐบาล เช่นพรรคเป็นธรรม ที่มีนโยบายในการยกระดับกระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ มีการออกกฎหมายเจรจาสันติภาพ การยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยุบ กอ.รมน.และ ยุบ ศอ.บต. เชื่อว่า ทุกอย่างมีโครงสร้างและกระบวนการตามกฎหมาย ที่จะต้องมีการหารือกันตามระบบ

ขณะที่นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. เปิดเผยว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา จชต. เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติความมั่นคงแห่งชาติ 2566-2570 เป็นนโยบายที่จะดำเนินการ เชื่อมโยง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ สมช.กำหนดทิศทางความมั่นคง มีหลักการในการแก้ปัญหา จชต. และนโยบายการบริหารและการพัฒนา จชต.ภายใต้ พ.ร.บ.บริหาร จชต.ให้ สมช.ทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายต่อ รัฐบาล ตั้งแต่ปี 2553 ในนโยบายนี้ ทาง สมช.ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม ในการรับฟังความเห็น ออกมาเป็นนโยบาย ในห้วงปี 2565-2567 ซึ่งล่าสุดได้เห็นชอบจาก ครม.แล้ว

สำหรับกฎหมายพิศษ มีการปรับลดลงมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงไปแล้ว 10 อำเภอ จาก 3 อำเภอ และมีแผนปรับลดลงในปี 2565-2570 จะยุติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ในประเด็นการกระจายอำนาจ เป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน ต้องแสดงความคิดเห็น การกะจายอำนาจ บนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายฉัตรชัย เปิดเผยว่า ในปี 2570 ถ้ากระบวนการพูดคุยก้าวหน้า กฎหมายพิเศษก็ไม่มีความจำเป็น เชื่อมั่นว่า พรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล จะเดินหน้าไปได้

พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตลอดกว่า 19 ปีของสถานการณ์หน่วยงานความั่นคงมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 ซึ่งใช้ภายใต้การควบคุมสถานการณ์ และความจำเป็น เพราะต้องยอมรับว่า แม้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่สงคราม ไม่ได้เป็นพื้นที่ขัดแย้งด้วยอาวุธ แต่คนไทยกลุ่มหนึ่ง กระทำผิดกฎหมายของรัฐ ก่ออาชญากรรมที่ละเมิดต่อกฎหมายของประเทศไทย จึงจัดกำลังมาสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงต้องมาปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในการเสียชีวิตมีผู้บริสุทธ์ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีผู้ก่อเหตุเสียชีวิตจากการใช้กฎหมายประมาณ 400 คน กฎหมายพิเศษจึงยังจำเป็น แต่จะใช้ตามความเหมาะสมและลดลงตามลำดับ

ส่วนการถอนกำลังทหาร ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการถอนกำลังทหารไปแล้วในปี 2559-2560 จำนวนกว่า 12,000 นาย ในส่วนกองทัพภาคที่ 1-2-3 คงไว้ในส่วนกองกำลังในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ซึ่งปัจจุบันมีการถอนกำลังไปแล้วกว่า 25,000 นาย และอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกำลังไปสู่ตำรวจและฝ่ายปกครอง พลเรือนมากขึ้น

พล.ต.ปราโมทย์ เปิดเผยว่า แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แต่นโยบายการพูดคุยเพื่อสันติสุข ก็ยังเป็นวาระแห่งชาติ หน่วยปฏิบัติในพื้นที่เชื่อมั่นว่า มีกรอบชัดเจน กระบวนการพูดคุยเดินหน้าแน่นอน และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะสร้างสภาพแวดล้อมหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ไม่กังวล กรณีจะมีการเสนอยุบ กอ.รมน. เพราะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างตามกฎหมาย

Related Posts

Send this to a friend