BANGKOK

กทม. โยน ครม.ชี้ขาดสัมปทานสายสีเขียวจบปัญหาหนี้ ยัน ไม่เบี้ยว เตรียมเงินไว้แล้วหมื่นล้าน

วันนี้ (22 พ.ย.65) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ตั้งโต๊ะแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายวิศณุ กล่าว่า กทม.ไม่มีเจตนาชะลอการชำระหนี้ตามกระแสข่าว พร้อมชี้แจงเรื่องสัญญาสายสีเขียว แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ สัญญาสัมปทานส่วนหลัก “หมอชิต-อ่อนนุช” และ “สนามกีฬา-สะพานตากสิน” สัญญาจ้างเดินรถ ส่วนต่อขยายที่ 1 สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่ง กทม.ทำสัญญาจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้บริหารและจัดการระบบ ก่อนที่กรุงเทพธนาคมจะทำสัญญาจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เดินรถและซ่อมบำรุง

แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กทม.ไม่ได้ทำสัญญาจ้าง แต่มอบหมายให้กรุงเทพธนาคมเดินรถและจัดหาระบบ ก่อนที่กรุงเทพธนาคมจะทำสัญญาค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) และค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) กับบีทีเอสภายหลัง

อย่างไรก็ตามการตั้งงบประมาณก่อหนี้ผูกพันต้องผ่านสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนต่อขยาย 1 ทำถูกต้องตามข้อบัญญัติ บรรจุโครงการให้สภา กทม.เห็นชอบ ก่อนทำสัญญาจ้าง แต่ส่วนต่อขยาย 2 ไม่ผ่านกระบวนการนี้

นายวิศณุ ย้อนไทม์ไลน์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 เริ่มจากวันที่ 28 มิถุนายน 2559 กรุงเทพธนาคม ทำสัญญา E&M กับบีทีเอส มูลค่า 19,358 ล้านบาท ก่อนมีบันทึกมอบหมายจาก กทม. ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 จากนั้นวันที่ 1 กันยายน 2559 กรุงเทพธนาคมทำสัญญา O&M กับบีทีเอส มูลค่า 161,097 ล้านบาท โดยในปี 2561 สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.ได้เสนองบประมาณค่าจ้างเดินรถทั้งระบบเข้าสภา กทม. ถูกปัดตก ไม่บรรจุในงบประมาณ จึงเป็นปัญหาคาราคาซังจนถึงปัจจุบัน

“กระดุมเม็ดแรกกลัดไม่ถูกเลยเกิดปัญหา ฝ่ายบริหารอยากจ่าย ถ้าตรงมาตรงไป ไม่มีเจตนารมณ์ชะลอ เพียงแต่บันทึกมอบหมายไม่สมบูรณ์ หนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา กทม.”

จากนั้นเมื่อ 16 เมษายน 2562 มีคำสั่งคสช.ที่ 3/2562 ตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาหนี้ และร่างสัญญาขอขยายสัมปทานส่วนหลักไปอีก 30 ปี จนถึงปี 2602 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2572 ทั้งนี้ในร่างสัญญายังมีประเด็นส่วนต่างค่าจ้างเดินรถตั้งแต่พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขยายสัญญาสัมปทาน กทม.จึงยังไม่ได้จ่ายค่าเดินรถส่วนต่อขยาย 1 กับบริษัทเอกชนได้

ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีหนังสือตอบกลับไปยังกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ระบุเห็นพ้องกับนโยบายการเดินรถต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) ขอให้รัฐสนับสนุนงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน และงานติดตั้งระบบเดินรถ เห็นควรพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และหาข้อยุติของคณะรัฐมนตรีตามคำสั่ง คสช.ทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานต่อไป

ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กทม. และกรุงเทพธนาคม ชดใช้ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทนการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 ราว 12,600 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย กทม.อุทธรณ์ไม่มีเจตนา ไม่ชำระหนี้ จึงไม่ขอจ่ายดอกเบี้ย ขณะที่กรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสัญญาจ้าง พร้อมตั้งคณะกรรมการเจรจากับบีทีเอส ประเด็นใดที่ตกลงได้ จะดำเนินการก่อน

โดยส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ต้องรอให้ ครม. พิจารณาว่า มติขยายสัมปทานหรือไม่ หาก ครม. อนุมัติ จะไปเป็นตามร่างสัญญาใหม่ที่เอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ถ้า ครม.ไม่อนุมัติ เป็นหน้าที่ กทม.ที่ต้องกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้ขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย มี 2 วิธี ได้แก่

  1. ให้สภา กทม.ให้สัตยาบรรณย้อนหลังสัญญาจ้างเดินรถและสัญญาติดตั้งระบบ
  2. กรณี สภากทม. ไม่ให้สัตยาบรรณ ให้รอศาลปกครองตัดสิน

นายต่อศักดิ์ กล่าวว่า กทม.มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ ซึ่งเป็นเงินสะสมของ กทม. ที่มีอยู่ 70,000 ล้านบาท เบื้องต้นเตรียมไว้ 10,000 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ส่สนต่อขยาย 1 ยืนยันว่าพร้อมจ่ายเงินทันที แต่กระบวนการต้องครบถ้วน

รายงานข่าวแจ้งว่า มูลค่าหนี้ที่บีทีเอสทวง เป็นจำนวน 40,000 ล้านบาท มาจากค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 จำนวน 3,800 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 2 14,000 ล้านบาท ค่าระบบอาณัติสัญญาณ จำนวน 19,000 บาท

Related Posts

Send this to a friend