BANGKOK

กทม. – AIS – ภาคีเครือข่าย เดินหน้าขยายผล ‘หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์’

วันนี้ (4 ส.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ AIS และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขยายผลหลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 แห่ง ให้สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย และเหมาะสม นำหลักสูตรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน กิจกรรมชมรม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และกิจกรรมแนะแนว

ปัจจุบันโรงเรียนสังกัดกทม.มีห้องแล็บคอมพิวเตอร์ใหม่ 93% ตั้งเป้าครบทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนการเรียนรู้ในห้อง กทม.มีนโยบายพัฒนาห้องเรียนดิจิทัล เปิดรับบริจาคคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อใช้เป็นเครื่องมือการเรียนรู้สำหรับนักเรียนและทำให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning (เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม)

สำหรับหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไม่ได้กำหนดว่าทุกโรงเรียนจะต้องทำเหมือนกัน แต่ให้นำไปปรับในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคม แนะแนว ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ หรือในหลักสูตรนอกห้องเรียน อย่างไรก็ตาม ต้องมีการถอดบทเรียนของแต่ละแห่งมาเป็นเมนูให้โรงเรียนอื่น ๆ เลือกต่อไป ส่วนการวัดผล หัวใจสำคัญยังเป็นเรื่องผลกระทบ ว่าผู้เรียนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่งเป้าหมายหลักคือทำให้บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ ใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้ปลอดภัย

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) พบว่ากลุ่มนักเรียนที่สามารถใช้งานสื่อดิจิทัลออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญในฐานะคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้ดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นเหตุผลที่ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลไปยังสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้นำหลักสูตรส่งต่อไปสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” จะมีการนำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ประกอบด้วย

1.Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์

3.Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์

4.Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

Related Posts

Send this to a friend