ART & CULTURE

คันฉ่องส่องเพ็ชร์ นิทรรศการงานหัตถศิลป์ช่างเมืองเพชรบุรี สะท้อนผลงานผ่านศีรษะ

สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ จัดงานนิทรรศการ “คันฉ่องส่องเพ็ชร์ : มรดกภูมิปัญญาแห่งพริบพรี” นำเสนอผลงานหัตถศิลป์พื้นบ้าน อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการงานหัตถศิลป์ตามภูมิภาคต่างๆ เป็นครั้งที่ 3 ในจังหวัดภาคกลาง โดยครั้งแรกจัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น และครั้งที่สองในจังหวัดลำปาง ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “คันฉ่องส่องเพ็ชร์ : มรดกภูมิปัญญาแห่งพริบพรี” ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 -18.00 น. ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2565 ณ หอวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการและภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ กล่าวว่า “ ทีมนักวิจัยได้มีการสำรวจและเก็บข้อมูล ร่วมกับทีมงานมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จึงเป็นที่มาของแนวความคิด การจัดนิทรรศการ “คันฉ่องส่องเพ็ชร์ : มรดกภูมิปัญญาแห่งพริบพรี” เพื่อต้องการที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ และสุนทรียะผ่านงานช่างหัตถศิลป์ อันเป็นมรดกภูมิปัญญาของชาวเพชรบุรี ภายใต้แนวคิดของศีรษะหรือของสูง ที่สะท้อนผ่านคันฉ่อง อันเป็นหนึ่งในงานช่างที่เป็นเอกลักษณ์ของเพชรบุรี ซึ่งวัตถุที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ จะสะท้อนเรื่องราวทั้งแง่วิถีชีวิตและความเชื่อของชาวเพชรบุรี ที่มีต่อทั้งธรรมชาติและศาสนา อาทิ คันฉ่องฝังลายไม้มูก งานปูนปั้น หัวละครชาตรี หัววัว งานฉลุกระดาษ หนังใหญ่ และเทียนแห่นาค ซึ่งจะเป็นคันฉ่องที่จะสะท้อนฉายภาพและพาทุกท่าน ไปดื่มด่ำกับความงามของงานช่างหัตถศิลป์ท้องถิ่น ที่ไม่เคยได้สัมผัสและพบเห็นจากที่ไหนมาก่อนอย่างแน่นอน

ในงานนิทรรศการครั้งนี้ได้แบ่งพื้นที่จัดแสดง ออกเป็นสามส่วนโดยแต่ละส่วน จะมีเรื่องราวที่แตกต่างกันไป แต่จะร้อยเรียงเชื่อมโยงกันผ่านวิถีชีวิต และความเชื่อของชาวเพชรบุรีที่ถ่ายทอดผ่านบริบทของศีรษะและของสูง โดยในห้องจัดแสดงใหญ่นี้จะจัดแสดงเรื่องราว ที่เกี่ยวข้องกับงานช่างหัตถศิลป์ของเพชรบุรี ที่มีทั้งงานช่างท้องถิ่นและงานช่าง ที่ผสมผสานกับความเป็นชาววังหรืองานหลวงลงไป

งานนิทรรศการครั้งนี้ได้นำร่องผ่านการสร้างสรรค์ งานปั้นหัววัวลานกับงานสมัยใหม่ โดยศิลปินหลายท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ สุธี คุณาวิชยานนท์, ชลิต นาคพะวัน, สุนทร จันทรนิเวศน์ และปัญจพล อัศวลาภนิรันดร จากทางทีมสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธิดา บุตรแขก, กิตติพันธุ์ ชินวรรณโชติ และดร.สรไกร เรืองรุ่ง จากทีมของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งศิลปินผู้ออกแบบและสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่ละท่านมีความชำนาญที่หลากหลาย และแตกต่างกันไปตามแต่ละแขนงอาทิ งานประดับผ้ากับหัววัวลาน งานสร้างสรรค์หัววัวจากโลหะ เป็นต้น

ภายในงานยังการถอดสุนทรียะ ของงานหัตถศิลป์สกุลช่างเพชรบุรี โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ และมีการจัดกิจกรรมอบรมทักษะ งานหัตถศิลป์ท้องถิ่นอันควรค่าแก่การอนุรักษ์รักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไปคู่กับเพชรบุรี และประเทศของพวกเรา

Related Posts

Send this to a friend