BANGKOK

กทม. ประชุมขับเคลื่อนแผนแม่บทโลกร้อน ตั้งเป้าเป็น ‘มหานครโซลาร์เซลล์’

กทม. ประชุมขับเคลื่อนแผนแม่บทโลกร้อน ตั้งเป้าเป็น ‘มหานครโซลาร์เซลล์’ ลดคาร์บอน 10 ล้านตันในปี 2573

วันนี้ (22 เม.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564-2573 (Steering Committee on the Implementation of Bangkok Master Plan on Climate Change 2021-2030) ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 ดินแดง

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 43,000,000 ตันต่อปี จุดมุ่งหมายคือต้องพยายามลดให้ได้ ทั้งนี้ ก๊าซเรือนกระจกเกิดจากหลากหลายที่มา ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน ได้แก่ การใช้พลังงานในอาคาร การใช้เครื่องปรับอากาศ และการใช้พลังงานที่มาจากภาคการขนส่ง ทั้งสองส่วนนี้เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรุงเทพฯ รวมแล้วมากกว่า 90% ที่เหลือเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการฝังกลบขยะ โดยทั้งหมดจะลดลงด้วยการช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว

ทั้งนี้ กทม.พยายามพูดถึงเรื่อง Net Zero หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ โดยในปี พ.ศ.2573 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนให้ได้อย่างน้อย 10,000,000 ตัน ในวันนี้จึงพูดถึงแผนพลังงาน เพราะพลังงานเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา ขณะนี้ได้พยายามแยกย่อยเป้าหมายในแต่ละปีเพื่อทำให้ชัดเจน ซึ่งมีหลายมาตรการที่จะช่วยทั้งในเรื่องของการขนส่ง การส่งเสริมการใช้รถขนส่งมวลชนให้มากขึ้น การลดการใช้น้ำมัน และการใช้โซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น

“เรามีมาตรการหลายอย่างที่จะทำให้กรุงเทพฯ ของเรากลายเป็นมหานครของโซลาร์เซลล์ ให้มีการใช้พลังงานจากแสงแดดให้มากขึ้น ซึ่งเป็นพลังงานพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของกรุงเทพมหานครเองได้มีการโฟกัสที่ 3 เขต โดยได้เชิญองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มาช่วยวัด ว่าแต่ละเขตได้สร้างก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอย่างน้อยตัวเราเองต้องดูก่อนว่าเราผลิตมากน้อยแค่ไหน จากนั้นเราจะขยายผลไปทุกเขต รวมถึงชุมชนต่าง ๆ ในเขตด้วย” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์การก๊าซเรือนกระจกฯ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของทั้งจังหวัดและเขต โดยเริ่มจาก 3 เขต และจะทำให้ครบทั้ง 50 เขต แต่ละเขตต้องดูการปล่อยพลังงานไฟฟ้าและการใช้น้ำมัน รวมถึงการบริหารจัดการขยะ เพื่อให้เขตสามารถวางแผนการลดตามเป้าหมายของตัวเองได้ ทั้งนี้ องค์การก๊าซเรือนกระจกฯ จะช่วยสร้างแพลตฟอร์มในการประเมิน นำไปบูรณาการกับอีก 76 จังหวัด ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนระบบวัดและเชื่อมโยงระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ในการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564-2573 ที่ประชุมได้พิจารณารายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ ประกอบด้วย รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564-2573 จำนวน 160 โครงการ โดยให้เปรียบเทียบความสำเร็จของโครงการกับเป้าหมาย และโครงการที่สำเร็จแล้วให้คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ เพื่อให้เห็นความสำเร็จตามตัวชี้วัด

จากนั้นที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างโยโกฮามากับกรุงเทพมหานคร (City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society) โดยผู้แทนโครงการ OECC (Overseas Environmental Cooperation Center) ประเทศญี่ปุ่น

สำหรับรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยแบบจำลอง Asia-Pacific Integrated Model (AIM) คณะทำงานกำหนดกรอบการทำงาน โดยตั้งเป้าสมมติฐานภายใต้ Scenario ต่าง ๆ และเห็นว่าหาก กทม.ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ จะต้องเริ่มจากการใช้พลังงานสะอาดภายในหน่วยงาน ร่วมกับภาคประชาสังคมให้ความร่วมมือแยกขยะ ส่วนการแก้ไขในอนาคตต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน ระยะยาวหากมีร่วมมือกับต่างประเทศนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาจะทำให้ กทม.ลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคตได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังพิจารณาแผนการดำเนินการประจำปีของการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครประจำปี 2567 และร่างแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร (Bangkok Energy Action Plan) โดยแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567-2573 จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 พ.ศ.2566-2567 ระยะเตรียมความพร้อม

ระยะที่ 2 พ.ศ.2568-2570 การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างเต็มรูปแบบ

ระยะที่ 3 พ.ศ.2571-2573 ส่งเสริมการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง และสามารถติดตามประเมินผลโครงการและมาตรการต่าง ๆ เพื่อพิจารณาผลสัมฤทธิ์และปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก

Related Posts

Send this to a friend