‘ชัชชาติ’ ลงพื้นที่แฟลตดินแดง พบปัญหาจำนวนมาก เผยนายกฯ กำชับแก้ปัญหาจากเส้นเลือดฝอย
‘ชัชชาติ’ ลงพื้นที่แฟลตดินแดง พบปัญหาจำนวนมาก มอง แฟลตดินแดงเป็นภาพย่อยของ กทม. เผยนายกฯ กำชับแก้ปัญหาจากเส้นเลือดฝอย
วันนี้ (1 เม.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์หลังการลงพื้นที่ร่วมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่แฟลตดินแดง ย่านประชาสงเคราะห์ 11 อาคาร 51-53 กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อตรวจสอบปัญหาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
นายชัชชาติ กล่าววว่าพื้นที่ดินแดงพบปัญหาขยะ และมีหนูตัวใหญ่จำนวนมาก เนื่องมาจากการออกแบบการสร้างแฟลต เนื่องจากที่ผ่านมามีการสร้างปล่องทิ้งขยะทำให้เกิดปัญหาขยะบ่อยครั้ง ทั้งขยะค้างปล่อง ทำให้มีหนูจำนวนมาก อีกทั้งการเก็บขยะก็ทำได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปคุ้ยขยะในปล่อง ซึ่งทาง กทม. มีการประสานงานกับชุมชนแฟลตดินแดงให้มีการเปลี่ยนวิธีการทิ้งขยะ ด้วยการนำถังขยะขนาดใหญ่มาตั้งด้านล่างเพื่อให้ประชาชนนำมาทิ้ง ซึ่งขณะนี้ได้ปิดปล่องขยะดังกล่าวไปแล้ว ในช่วงแรกก็มีประชาชนร้องเรียนแต่ถึงตอนนี้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งปัญหาหนูและขยะก็ลดลง และก็จะนำโมเดลนี้ไปเป็นตัวอย่างให้กับแฟลตต่างๆ รอบ กทม. อีกด้วย ส่วนปัญหาน้ำท่วมทาง กทม. ก็ได้ดูแลเรื่องการลอกท่อ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าอยากให้แก้ปัญหาในส่วนของ เรื่องเส้นเลือดฝอยเป็นหลัก
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าการที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่บริเวณแฟลตดินแดงมีเรื่องใดให้ดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า พื้นที่ดินแดงเป็นพื้นที่ที่ประชาชนประสบปัญหามาก โดยนายชัชชาติระบุว่าเมื่อเดินเข้าไปในบริเวณพื้นที่เพียงไม่นานก็ได้ทราบถึงปัญหาในหลายส่วน เพราะเขตดินแดง เป็นภาพย่อของ กทม. ซึ่งมีปัญหามากมาย เช่น น้ำท่วม การศึกษา ผู้ป่วยติดเตียง เพียงแค่เดินไม่ถึง 500 เมตร ก็ได้รับรู้ถึงปัญหาในภาพย่อของ กทม. แล้ว ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในแฟลตอื่นๆ อีกหลายแห่ง เนื่องจากมีจำนวนประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก
ทั้งนี้มีชาวบ้าน เข้ามาร้องเรียนการทำงานของรัฐบาล นายชัชชาติชี้แจงว่าชาวบ้านมาร้องเรียนเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในแฟลตเพราะพบปัญหาเรื่องน้ำรั่ว น้ำซึม ซึ่งปัญหานี้ เป็นเรื่องของการเคหะแห่งชาติไม่ใช่หน้าที่ของ กทม.
ด้านนายกรัฐมนตรี ได้กำชับว่าให้คำนึงถึงประชาชนเป็นหลักให้ดำเนินการซ่อมแซมแก้ไข สำหรับปัญหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการจำหน่ายรอบสถานศึกษา นายชัชชาติ ระบุว่า การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งการตรวจค้นในโรงเรียนยังไม่สามารถทำได้แต่ทาง กทม. จะหามาตรการสร้างความตื่นตัวภายในโรงเรียน ให้ตระหนักถึงโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้หน่วยงานที่มีภาระหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
จากข้อมูลที่มีการอ้างอิงเรื่องการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา พบว่ามีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษาถึง 1,000 แห่งในพื้นที่ กทม. เบื้องต้นทาง กทม. ได้ขอความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าดูแลเป็นหน่วยงานหลัก ส่วน กทม. จะไม่มีประกาศในการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะจะไปซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานที่เป็นผู้ดูแลหลัก