BANGKOK

กทม.จ่อเซ็นสั่งพักราชการ-ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง กรณีนายช่างโยธาอาวุโสลาดกระบัง เรียกรับสินบน

วันนี้ (6 ก.ย. 66) นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงขั้นตอนการดำเนินการกรณีที่นายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง เรียกรับสินบน 5 หมื่นบาทเพื่อแลกกับใบอนุญาตการก่อสร้างอาคาร

สืบเนื่องจาก ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จับกุมนายวิโรจน์ อายุ 59 ปี นายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง ในความผิดมาตรา 149 “เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่” และมาตรา 157 “ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญา

จากกรณีดังกล่าว ปลัดกรุงเทพมหานครจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งให้ข้าราชการรายดังกล่าวไปช่วยราชการที่กองแผนงานและประสานสาธารณูปโภค สำนักการโยธา ซึ่งเป็นกองที่ไม่ต้องติดต่อใกล้ชิดกับประชาชน โดยทันที ส่วนวันนี้ปลัดกรุงเทพมหานครจะลงนามคำสั่งพักราชการข้าราชการรายดังกล่าวตามกฎ ก.ก.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2565 ข้อ 85 ซึ่งการพักราชการนี้จะมีกำหนดไม่เกิน 120 วัน หากต่ออีกจะได้ไม่เกินอีก 60 วันต่อครั้ง

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การทำงานอยู่ที่ใดเป็นเวลานานอาจสร้างอิทธิพลทำให้เกิดปัญหาได้ กรณีนี้ผู้บริหารอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการโยกย้ายสถานที่ทำงานรวมถึงระบบการยื่นขออนุญาตต่าง ๆ ด้วย โดยมีคณะการพิจารณาการโยกย้ายตำแหน่งจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากนี้ในการสอบวินัยร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการเพื่อหาผู้กระทำผิดที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนการทุจริตเป็นเรื่องทางคดีอาญาจะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการขยายผลต่อไป

ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในกรณีนายช่างโยธาอาวุโสนี้ หัวหน้าฝ่ายโยธาจะต้องทราบขั้นตอนในการให้บริการประชาชนระยะเวลาตั้งแต่เดือน พ.ย. 65 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาเท่าไร ทำไมถึงใช้เวลานาน ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ประชาชนทำแล้วไม่ครบถ้วนได้มีการแนะนำอย่างไร กระบวนการเหล่านี้ต้องบันทึกเป็นเอกสารหลักฐานเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเดินเรื่องและขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อทราบว่ากระบวนการไปช้าที่ส่วนใดและด้วยเหตุใด หากช้าเพราะเกิดจากความบกพร่องหรือมีการเรียกรับผลประโยชน์ก็ต้องดำเนินคดีอาญา

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวว่า หากประชาชนถูกเจ้าหน้าที่เรียกรับเงิน ให้หาช่องทางในการแจ้งข้อมูล โดยสามารถแจ้งกับ กทม.ได้ที่ระบบ ‘Traffy Fondue’ ซึ่งเป็นระบบปิดและมีหน่วยงานรับเรื่องทุจริตไปดำเนินการโดยเฉพาะ อย่ากลัวที่จะให้ข้อมูลในเรื่องของชื่อและเบอร์โทรศัพท์ เนื่องจากจะต้องมีการติดต่อกลับ และอีกช่องทางหนึ่งคือ สายด่วน 1555 โดยกรณีสายด่วนซึ่งปัจจุบันจ้าง outsource รับเรื่อง จะมีการหารือกับผู้บริหารอีกครั้งในการหาแนวทางที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะแจ้งเรื่องเข้ามา

“อย่างไรก็ตาม การปราบปรามที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ดังนั้น เมื่อ กทม.พยายามกระจายอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการ แต่เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือในการกระจายอำนาจไปในทางแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองแล้ว เราอาจจะต้องมีเงื่อนไขหรือวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อควบคุมดูแลและเพื่อลดช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์หรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่ต่อไป” ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

Related Posts

Send this to a friend