‘ชัชชาติ‘ ย้ำ สถานประกอบการทั่วไปยังปิดเวลาเดิม เน้นสถานบริการในโซนนิ่งก่อน
‘ชัชชาติ‘ ย้ำ สถานประกอบการทั่วไปยังปิดเวลาเดิม หากมีประกาศฯ จะเน้นสถานบริการในโซนนิ่งก่อน
วันนี้ (4 พ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจรเขตบึงกุ่ม ว่าเขตบึงกุ่มเป็นเขตขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 137,000 คน เป็นเขตที่อยู่อาศัยเยอะ มีถนนหลักอยู่ 4-5 สาย อาทิ ถ.เสรีไทย นวมินทร์ นวลจันทร์ ปัญหาหลักเป็นเรื่องน้ำท่วมซึ่งได้รับการแก้ไขไปพอสมควร อาจจะมีปัญหาเรื่องการเดินทาง รถติด เพราะไม่มีขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ไม่มีรถไฟฟ้าผ่าน รถเมล์น้อย แต่ทำเรื่อง Traffy Fondue ได้ค่อนข้างดีในการแก้ไขปัญหาของประชาชน
สำหรับเรื่องการแบ่งโซนนิ่งที่ได้เข้าหารือนายกรัฐมนตรีเมื่อวาน คือการเปิดสถานบริการถึงตี 4 ได้เน้นย้ำว่ายังไม่มีการเปิดสถานบริการทั่วไปถึงตี 4 สถานประกอบการทั้งหมดในเขตบึงกุ่มไม่มีสถานบริการ จะเป็นร้านอาหารที่มีดนตรีและมีขายสุรา แอลกอฮอล์ ร้านกลุ่มนี้เปิดได้ถึง 01.00 น. ยังไม่ขยายเวลา
ส่วนสถานบริการที่ขยายเวลาจะอยู่ในโซนนิ่ง 3 โซน เช่น สีลม พัฒน์พงศ์ อาร์ซีเอ เพชรบุรีตัดใหม่ รัชดาภิเษก และกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตสถานประกอบการก่อน มีประมาณ 200 กว่าแห่งในกรุงเทพมหานคร หากกระทรวงมหาดไทยตกลงก็คงออกกฎขยายเวลาให้ถึงตี 4 รวมถึงสถานบริการที่อยู่ในโรงแรมด้วย ทั้งนี้ ในภาพรวมสถานประกอบการร้านค้าต่าง ๆ อาทิ ย่านทองหล่อ ยังปิดเวลาเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ ซึ่ง กทม.จะจัดการตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ คือสถานบริการที่มีใบอนุญาต ให้ขยายเวลาถึงตี 4 ส่วนร้านอาหารที่มีดนตรี การแสดงดนตรี มีการจำหน่ายสุรา ในที่ประชุมแจ้งว่าอาจจะลดระดับลงมาที่ประมาณตี 2 ส่วนของกฎหมาย กฎกระทรวง หรือประกาศสำนักนายกฯ รัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการ
นายชัชชาติ กล่าวถึงเรื่องฝุ่น PM2.5 ว่า ปัจจุบันเป็นฝุ่นที่มาจากรถยนต์โดยตรง ถ้าอากาศปกติ อากาศเปิด ฝุ่นจากรถยนต์ในกรุงเทพฯ อยู่ประมาณ 20-30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่พออากาศเริ่มปิด จะเพิ่มมาเป็นประมาณ 50-60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนอนาคตถ้าเกิดมีฝุ่นจากด้านนอก เช่น เผาชีวมวล ค่าฝุ่นก็จะเป็น 90-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง
กทม.มีเรื่องที่ดำเนินการอยู่ คือ ตรวจรถควันดำ พบว่ายังปล่อยอยู่เป็นปริมาณมาก ดังนั้นหัวใจของการต่อสู้กับ PM 2.5 คือ การลดการใช้รถยนต์ ใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมทั้งอาจจะต้องใช้รถที่มีคุณภาพดีหรือรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อย PM 2.5 น้อยลง ต้องร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพยายามลดการใช้รถยนต์และใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น ส่วนการเผาชีวมวล ในระยะยาวต้องร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ หรือกรมควบคุมมลพิษในการกำกับเรื่องการเผาชีวมวล
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักการศึกษาได้สำรวจห้องเรียนอนุบาล 2 และ 3 ทั้งหมด 1,700 ห้อง ติดตั้งแอร์แล้ว 800 ห้อง ซึ่งสำนักการศึกษาได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการซื้อเครื่องฟอกอากาศแล้ว โดยห้องที่มีแอร์ก็สามารถติดตั้งได้เลย เพื่อปกป้องสุขภาพสำหรับนักเรียน ส่วนสำนักอนามัยได้เตรียมพร้อมโดยลงพื้นที่ในเรื่องการให้ข้อมูลชุมชน แจกหน้ากากอนามัย สำนักการแพทย์เตรียมคลินิกปลอดฝุ่นใน 8 โรงพยาบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพ